นาฬิกา

เซี่ยมซีหลวงพ่อพระชีว์

สรุปตลาดหุ้น

ตารางฟุตบอล

สร้างรายได้เพียงง่ายๆ

Subscribe in a reader Google AdSense คือบริการจาก Google ที่ให้ผู้ที่มีเว็บไซต์ สามารถหารายได้โดยการนำ Code ที่ได้จากการสมัครเป็นสมาชิกของ Google มาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ของตนเอง ซึ่ง Code นั้นจะเป็น โฆษณาที่ส่งมาจาก Google โดยโฆษณานั้น ๆ จะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ของคุณ ตัวอย่างเช่นถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โฆษณาที่ส่งมาจาก Google ก็อาจเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม,สายการบิน เป็นต้น

ข้อความ

ข้อความ

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

การเข้าถึงตลาดและการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ


(3)  การเข้าถึงตลาดและการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ
      การเข้าถึงตลาด (Market access) ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอถูกนำเสนอผ่านเงื่อนไขข้อตกลงในเรื่อง การเปิดเสรีทางการค้าและบริการ (Trade liberalizations) โดยบังคับให้คู่เจรจาทางการค้าให้เปิดตลาดสินค้า และ บริการ (Services) เช่นตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดกรณี    การบีบบังคับให้ประเทศไทยเปิดตลาดสินค้าจีเอ็มโอ       GMOs (genetically modifies organism) ด้วยการยกเลิกข้อจำกัดใด ๆ ที่มี ที่ขัดขวางมิให้สินค้าจีเอ็มโอ เข้าสู่ตลาดในประเทศไทย สินค้าที่ว่านี้รวมถึงเมล็ดพันธ์พืชจีเอ็มโอ GM Crop และสินค้าที่มีส่วนผสมจากพืชตัดต่อพันธุกรรมโดยทั่วไปอีกด้วย   ในสาขาด้านบริการ (Services) นั้นครอบคลุมในทุกสาขาการบริการ ทั้งสาขา บริการทางการเงิน การธนาคาร ประกันภัย  การศึกษา เกษตรประมง การจัดซื้อภาครัฐ (government  procurement) รวมถึงกิจการบริการสาธารณะอื่น ๆ ฯลฯ  ซึ่งประเทศไทยจำต้องเปิดให้นักลงทุนจากประเทศคู่เจรจาสามารถเข้ามาดำเนินการ ในตลาดด้านนี้อย่างเต็มที่  โดยปราศจากข้อจำกัด ตามกรอบการเจรจาที่ประเทศสหรัฐใช้ในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
(4)  การค้าและการลงทุน (Investment)
      ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนนับเป็น กรอบข้อเสนอเจรจาการทำข้อตกลงเอฟทีเอที่มีความสำคัญมากอีกส่วน กล่าวคือ เป็นหัวใจของฉันทานุมัติแห่งวอชิงตัน (Washington consensus) ที่การเคลื่อนย้ายทุนจะต้องเป็นไปโดยเสรี และปราศจากข้อจำกัด ด้วยเหตุนี้กรอบข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนจึงเน้นไปที่กฎกติกาซึ่งเป็นเงาตามตัวที่ไปรองรับสิทธิตัวผู้ลงทุน (Investor)” ด้วยการนำหลัก การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-favoured-nation Treatment) มาบังคับใช้ ควบคู่กันไปกับข้อตกลงที่เป็นมาตรการคุ้มครองปกป้องผู้ลงทุน เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจำกัด  ข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน   กฎข้อตกลงว่าด้วยการยึดหรือริบคืนกิจการโดยรัฐ และ การห้ามยึดหรือริบคืนโดยทางอ้อม (Indirect expropriation) การเปิดโอกาสให้นักลงทุนฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยความเสียหายจากรัฐคู่สัญญา ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หากรัฐคู่สัญญากระทำการใด ๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน  ข้อกำหนดเกี่ยวกับสาขาและรูปแบบธุรกิจที่นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนได้ เช่น การลงทุนในตลาดทุน ตลาดเงิน การซื้อขายพันธะบัตรและตราสารหนี้ หรือ การเข้าซื้อหุ้นในกิจการสาธารณูปโภค ธุรกิจด้านการเกษตร กฎหมาย แพทย์ สถาปนิก เป็นต้น ฯลฯ นอกจากนี้ในกรอบข้อตกลงในเรื่องการลงทุนยังรวมถึง ข้อตกลงเกี่ยวกับการมีระบบระงับข้อพิพาทจากการลงทุนเอง   โดยวิธีกระบวนการอนุญาโตตุลาการ  เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนเองด้วย
 3. กรอบการเจรจาทำข้อตกลง FTA และ ปัญหาทางกฎหมาย
   3.1  ความผูกพันตามกฎหมาย (Legal binding) ใน ข้อตกลง FTA
      ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ อีกเลยว่าบรรดาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ที่ประเทศไทยจะไปลงนามกับประเทศคู่เจรจาใด ๆ นั้นจะมีความผูกพันตามกฎหมาย (Legal Binding) หรือไม่ ประเทศไทยที่เมื่อได้ลงนามต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศใดไปแล้ว ย่อมมีความผูกพันต่อ รัฐไทยและ คนไทยทุกคนในอันที่จะต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ๆ ความผูกพันที่ว่านี้ครอบคลุมองค์กรทางการเมืองภายในรัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ที่จะเข้ามาบริหารในเวลาต่อมา ฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา) ที่ผูกพันตนเองด้วยในการตรากฎหมายซึ่งต้องสอดคล้อง (Compliance)  กับข้อตกลงเอฟทีเอ ในแต่ละข้อตกลง และยังผูกพันต่อ ศาลด้วยในขณะเดียวกัน  ที่ถูกจำกัดมิให้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่เกิดขึ้นตามบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของศาลที่รัฐธรรมนูญ ฯ ให้การรับรองคุ้มครองไว้
      ความผูกพันตามกฎหมายที่ว่านี้  แสดงออกจากการที่รัฐไทย ในฐานะคู่สัญญาที่ได้ลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอจะต้องนำหลักการที่เขียนไว้ในข้อตกลงมาปรับใช้ภายในรัฐ ด้วยการปรับปรุงยกเลิกบรรดากฎหมายที่มีอยู่แต่เดิม และขัดหรือแย้งไม่สอดคล้องกับข้อตกลงเอฟทีเอก็ดี การจัดทำกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับให้สอดคล้องกับหลักการที่เขียนไว้ในข้อตกลงก็ดี   ล้วนแล้วแต่เป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศ (International obligations) ทั้งนี้เพราะประเทศไทยถือหลัก “dualist  doctrine”  ที่ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศ (International law) และ กฎหมายภายในของรัฐ (Domestic law) นั้นแยกออกจากกัน  จึงไม่ถือว่าบทบัญญัติในข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างกรณี ข้อตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับเหมือนกฎหมายภายใน  ดังนั้นจึงเป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศของรัฐไทยที่จะรับรองเอาข้อตกลงดังกล่าว  ให้มามีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายภายใน ด้วยการตรากฎหมายภายในให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ  ก็จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้เป็นกฎหมาย (Legal transformation)  จากข้อตกลงระหว่างประเทศมาสู่กฎหมายภายใน  เป็นจุดหมายปลายทาง   ด้วยเหตุนี้ข้อตกลงเอฟทีเอที่ไทยไปลงนามจึงผูกพันองค์กรทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ ฯ  ในการตรากฎหมาย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อข้อตกลงเอฟทีเอที่ได้ลงนามไปแล้ว    หากนำเอาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ของประเทศแต่ละคู่เจรจาที่ประเทศไทยเข้าไปเจรจาและทำข้อตกลงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรอบข้อตกลงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เคยทำไว้กับประเทศต่าง ๆ และจะถูกนำไปเป็นกรอบในการเจรจากับประเทศไทยในเวลานี้แล้ว ความผูกพันพื้นฐานเริ่มตั้งแต่การลดภาษีสินค้า ซึ่งจะมีการจำแนกประเภทสินค้าในการลดหย่อนภาษีแต่ละรายการต่อไป แต่เนื่องจากกรอบข้อตกลงเอฟทีเอหาใช่มีเพียงการลดภาษีสินค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพิจารณาจากกรอบข้อตกลงข้างต้นนี้แล้ว จะพบหลักการสำคัญที่สะท้อนเป็นข้อผูกพันแก่รัฐไทย ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ กระทำการ และหรือ ยกเว้นกระทำการ ก่อตั้งสิทธิและจำกัดสิทธิของบุคคลภายในรัฐ ในทางนโยบายและกฎหมาย หลายประการซึ่ง รัฐไทยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการในข้อตกลงที่ว่านั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็แต่โดยอาศัยอำนาจในวิธีทางในกฎหมาย ที่สำคัญเช่น
            3.1.1  ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงได้จำกัดการใช้อำนาจรัฐไทย กรณีห้ามมิให้เจ้าพนักงาน ใช้ข้อมูลการทดลอง (Test data) ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางเคมีในการขึ้นตำรับยา โดยมิได้รับความยินยอมจากบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลการทดลอง อีกทั้งยังห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียน ยา หรือผลิตภัณฑ์แล้วแต่กรณี โดยอาศัยผลข้อมูลจากบริษัทเจ้าของข้อมูลเพื่อนำยาหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาดอีกด้วย 
      การอนุวัติการทางกฎหมายในกรณีนี้  รัฐไทยจะต้องก่อตั้งสิทธิโดยการตรากฎหมายขึ้นมารองรับสิทธิในข้อมูลการทดลอง ยา หรือผลิตภัณฑ์ทางเคมี  ขณะเดียวกันยังจะต้องปรับปรุงแก้ไข  พระราชบัญญัติยา พุทธศักราช 2540  ที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลการทดสอบยา  ข้อห้ามการรับขึ้นทะเบียนยา เป็นต้น  
            3.1.2  การแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พุทธศักราช 2522 เพื่อขยายอายุความคุ้มครองเป็น 25 ปี  และ ขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต จำกัดการบังคับใช้สิทธิ  การเพิกถอนสิทธิบัตร ตลอดจนการนำเข้าซ้อน  ซึ่งจะต้องแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522  เสียใหม่ให้สอดคล้องกับข้อตกลง
     3.1.3 ในเรื่องลิขสิทธิ์  จะต้องมีการปรับปรุง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2547  โดยขยายระยะเวลาการคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็น 70 ปี นับแต่เจ้าของผลงานถึงแก่กรรม   นอกจากนี้รัฐไทยจะต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลที่อยู่ในรูปดิจิตอล  การใช้อินเตอร์เน็ต กำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต โดยรัฐไทยต้องเข้าเป็นภาคีข้อตกลง      ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกรณีนี้อีก ได้แก่ WIPO Copyright Treaty, 1966, WIPO Performances and Phonograms Treaty, 1966 และ Convention Relating to the Distribution of Program-Carrying Signals Transmitted by Satellite, 1974 เพื่อคุ้มครองการถอดรหัสสัญญาณดาวเทียม และการใช้อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณดาวเทียม
      3.1.3  รัฐไทยจะต้องเข้าเป็นภาคีใน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ค.ศ. 1991 หรือ UPOV (the International Convention for the Protection of new Varieties of Plants, 1991) โดยผลที่ตามมาก็จะต้องแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พุทธศักราช 2542 เพื่อจำกัดการใช้พันธุ์พืชคุ้มครองให้สอดคล้องกับอนุสัญญา ฯ UPOV
      3.1.4   การอนุวัติการตามข้อตกลงว่าด้วยการลงทุน ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ ประเทศไทยจะต้องแก้ไขยกเลิก กฎหมายทั้งปวงที่มีอุปสรรค์ต่อนักลงทุน เช่นการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้น อีกทั้งการเปิดเสรีแก่นักลงทุนสหรัฐได้ในทุกสาขา ซึ่งรวมถึงกิจการสาธารณูปโภค โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประปา การก่อสร้าง การลงทุนในตลาดทุน ตลาดเงิน การซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ หรือ ธุรกิจด้านการเกษตร กฎหมาย แพทย์ สถาปนิก ซึ่งจะต้องแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ อีกที่ขัดแย้งต่อข้อตกลงว่าด้วยการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการข้อตกลงที่ได้ทำไว้ 
      3.1.5 ในการเข้าถึงตลาด กรณีพืชตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMOs (genetically modified organism) รัฐไทยจำต้องแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติกักพืช พุทธศักราช 2507   ให้พืชตัดต่อพันธุกรรมสามารถทดลองและปลูกเพื่อการค้าได้ เช่นเดียวกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามการทดลองในระดับไร่นา ซึ่งผลที่ตามจากการเปิดให้พืชจีเอ็มโอสามารถปลูกเพื่อการค้าได้ ยังจะต้องมีการจัดทำกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อการนี้อีกด้วย
      ตัวอย่างรูปธรรม ความผูกพันในทางกฎหมายต่อรัฐไทย จากการทำข้อตกลงเอฟทีเอข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหากจะให้ทราบว่าจะต้องแก้กฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือสร้างกฎหมายก่อตั้งสิทธิใด ๆ ขึ้นมา จะต้องมีการศึกษาวิจัยพิจารณากรอบข้อตกลงย่อย ๆ ในแต่ละเรื่องซึ่งมีอีกมากมายหลายเรื่อง ซึ่งน่าจะมีการศึกษาในระดับต่อไป อย่างไรก็ตามเพียงเฉพาะเท่าที่ยกมาพิจารณาข้างต้นนี้ก็พอที่จะชี้ให้เห็นว่า ข้อตกลงเอฟทีเอได้สร้างความผูกพันต่อรัฐไทยมากน้อยเพียงใด โดยจะเห็นว่าหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่นกรณี ยา อาหาร หรือ กิจการสาธารณูปโภค เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของประเทศในด้านต่าง ๆ  ที่จะลดลงหากจะต้องอนุวัติการให้สอดคล้องกับข้อตกลงเอฟทีเอ
 3.2  ปัญหาเกี่ยวกับ กระบวนการทำข้อตกลง (Due process) และการให้ ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 มาตรา 224
 3.2.1 กระบวนการใช้อำนาจ (Due process) และบทบาทของประชาชน
      ความผูกพันทางกฎหมายที่รัฐไทย จะต้องดำเนินการในทางนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับ  ข้อตกลงเอฟทีเอเพียงเท่าที่ได้กล่าวมาใน 3.1 แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า แท้ที่จริงแล้วการทำข้อตกลงเอฟทีเอนั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นการกระทำการในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ส่งผลต่อ อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ (State sovereignty)”   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำให้อำนาจอธิปไตยของประเทศในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสังคมลดลง จากการที่ไม่สามารถดำเนินนโยบายและมีกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้โดยอิสระ สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของสภาพปัญหาเศรษฐกิจสังคม และระดับการพัฒนาของประเทศ (sui generis)
      ฉะนั้นการดำเนินการ เจรจาจนไปถึงการลงนามนำประเทศไทยเข้าผูกพันในข้อตกลงเอฟทีเอจึงเป็นกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน (Due process) ซึ่งหาใช่อำนาจเด็ดขาด (Absolute power) ของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการได้เองโดยลำพังทั้งนี้โดยกระบวนการใช้อำนาจที่ว่านี้  รัฐธรรมนูญ ฯ ได้ถักทอบทบาทและความสัมพันธ์ของอำนาจประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง  กับกระบวนการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างชัดแจ้งทั้งนี้แสดงออกโดย
      (1). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  บัญญัติรับรองอำนาจอธิปไตยไว้ในมาตรา 3 ความว่า อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้น ทาง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จึงไม่เป็นเหตุที่ต้องสงสัยว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น จะมีฐานะเป็นหลักการทางกฎหมายและหรือจะสามารถนำมากล่าวอ้างกรณีการตัดสินใจในการใช้อำนาจขององค์กรทางการเมืองหรือไม่
      (2). ความมีอยู่จริง แห่ง หลักการทางกฎหมายของอำนาจอธิปไตยของปวงชนที่ว่านี้ มีสถานะอยู่ในระดับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับ วิธี หรือ กระบวนการ ในการใช้อำนาจที่ว่านี้   โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่ว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจ ในสามทางคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และ ศาล  ประการหนึ่ง  และ อีกประการในกรณีการใช้อำนาจดังกล่าวนั้นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  ซึ่งแสดงว่าบรรดาบทบัญญัติและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการใช้อำนาจจะต้องเป็นไป หรือสอดคล้องกับหลักการ เจตนารมย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องตอกย้ำว่าการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรีก็ดี หรือนายกรัฐมนตรีก็ดี   หาได้มีอำนาจเด็ดขาด (Absolute ower)  แต่เพียงผู้เดียวไม่
      (3). กระบวนการ และ วิธีการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรทางการเมือง แต่ละองค์กรมีลักษณะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการใช้อำนาจแบบ CEO (Chief  Executive Officer)  เพราะนอกจากจะเป็นการใช้อำนาจที่ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง (Accountability) ต่อองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ตามที่ได้ก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย (legitimacy)   เป็นไปตามกฎหมาย   โดยจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ  เพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น (รัฐธรรมนูญ มาตรา 29)   อันแสดงให้เห็นว่า การใช้อำนาจขององค์กรทางการเมืองเพื่อการบริหารยุทธศาสตร์ หรือนโยบายที่จะไปก่อตั้งหรือจำกัดสิทธิของบุคคล จะกระทำได้ก็ด้วยอาศัยแต่อำนาจทางกฎหมายเท่านั้น   ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายใด ๆ นอกจากจะเพื่อรองรับการใช้อำนาจแล้ว ยังจะเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอีกด้วย  จึงส่งผลต่อการใช้อำนาจรัฐโดยตรง ซึ่งก็คือนัยยะของอำนาจอธิปไตยของปวงชนในปลายทางนั่นเอง  รูปธรรมที่แสดงออกต่อหลักการที่ว่านี้จะเห็นเด่นชัดจาก  การเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาล และของรัฐสภาเกือบทุกฉบับจะพบข้อความว่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย      บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัย   อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก
      (4). ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ ได้วางหลักการ การใช้อำนาจขององค์กรทางการเมือง จะต้องชอบด้วยกฎหมายและมีกฎหมายรองรับกับการใช้อำนาจดังกล่าว   ในประการสำคัญกับการที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพ ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย  ฉะนั้นการบริหารยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่มีเจตนาให้ส่งผลถึง  การก่อตั้งสิทธิใด ๆ ขึ้นมาใหม่ก็ดี  หรือ การยกเลิก เพิกถอน จำกัด ตัดสิทธิใด ๆ แก่บุคคล หรือกำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลก็ดี   โดยหลักการตามรัฐธรรมนูญจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย    ทำให้ความสัมพันธ์ในการใช้อำนาจขององค์กรทางการเมือง ผ่านยุทธศาสตร์ หรือนโยบายใด    และประสงค์จะให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงต่อสิทธิใด ๆ ของบุคคลจะทำได้ก็ด้วยอาศัยที่มาจาก กฎหมายเท่านั้น
      (5)  การใช้อำนาจอธิปไตย  เพื่อการบริหารยุทธศาสตร์ และนโยบาย ผ่านกฎหมายตามหลักการและเงื่อนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นี้นั้น   มิได้จำกัดในลักษณะเฉพาะเจาะจงในเชิงที่จะต้องปฏิบัติตามหลักที่ต้องทำ โดยอาศัยฐานที่มาทางกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังมีนัยยะความหมายกินความรวมถึงมิติในเชิง กระบวนการ  ในการใช้อำนาจที่ว่านั้นด้วย  กล่าวคือฝ่ายผู้ใช้อำนาจมีความผูกพันตามกฎหมาย (Legal binding) โดยนัยมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่จะต้องให้มีกระบวนการรับฟัง และ การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในการตัดสินใจหลากหลายรูปแบบตามเนื้อหาสาระแห่งสิทธิ และกลไกที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครอง  โดยเฉพาะในหมวด หมวด 5 ตลอดจน ต้องผ่านการตรวจสอบจากองค์กรทางการเมืองที่บัญญัติไว้ในหมวดอื่น ๆ อีกด้วยเช่นการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย  ความเหมาะสมในการออกคำสั่งหรือใช้กฎหมาย เป็นต้น
   3.2.2 เงื่อนไขการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ
      (1). การนำประเทศเข้าผูกพันในหนังสือสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศใด นั้นส่งผลโดยตรงต่อสถานะและบทบาทของอำนาจอธิปไตยของประเทศ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการทำให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International obligations)   ต่อประเทศไทยอันจะส่งผลต่อการจำกัดหรือการลดลงของอำนาจอธิปไตยของประเทศ (State Sovereignty) เพื่อทำให้เกิดผลหรือยินยอมปฏิบัติตาม (Compliance) กับหนังสือสัญญา และข้อตกลงที่ว่านั้น   ซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การเมือง การบริหาร สังคม และ วัฒนธรรม ตลอดทั้งความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อม อื่น ๆ อีกมากมายหลายด้าน
      (2). การกระทำการโดย องค์กรทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาล ที่จะนำประเทศไปสู่ข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศในหนังสือสัญญา หรือข้อตกลง  ถือเป็นการกระทำในทางบริหาร  ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ   โดยความผูกพันทางกฎหมายที่ว่านี้มีนัยยะสองระดับได้แก่ การที่ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันต่อการรับฟังความคิดเห็น การเปิดเผย ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาน และ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตาม มาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540  และการต้องตราพระราชบัญญัติเพื่อการอนุวัติการ ให้เป็นไปตามหนังสือสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศด้วยกรณีหนึ่งแล้ว   การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการในหนังสือสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศก็เป็นการกระทำการในทางบริหารที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอีกประการหนึ่งที่สำคัญอีกด้วย
      โดยภาพรวมแล้ว การกระทำในทางบริหารจะมีความผูกพันทางกฎหมายทั้งในระดับภายในประเทศ ตามเงื่อนไขทั้งปวงที่รัฐธรรมนูญกำหนด  และรวมถึงความผูกพันในระดับภายนอก ต่อหนังสือสัญญาและข้อตกลงระหว่างประเทศที่ว่านั้นด้วย  แล้วแต่กรณี
      (3). การกระทำทางบริหาร ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการนำประเทศเข้าผูกพัน กับหนังสือสัญญา และข้อตกลงระหว่างประเทศจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ  ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540   
            (4) การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศโดยนัยยะมาตรา 224 นี้บทบาทขององค์กรรัฐสภามีเพียงการลงมติเห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ เท่านั้น  ซึ่งถือเป็นระบบตรวจสอบปลายทางซึ่งผู้ตรวจสอบคือรัฐสภา ไม่สามารถเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่ว่านั้นได้เลย    ซึ่งกระบวนการเจรจาก่อนที่จะนำไปสู่การให้ความเห็นชอบในข้อตกลง ในมาตรา 224 ไม่ได้กำหนดความสัมพันธ์เอาไว้หรือแม้แต่ องค์พระมหากษัตริย์จะมีความสัมพันธ์ในขั้นตอนนี้อย่างไร   จะมีเมื่อครั้งที่รัฐสภาได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว  และฝ่ายบริหารจะนำหลักการข้อตกลงตามหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ มาสู่การปฏิบัติก่อนที่จะมีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมายต่าง ๆ ด้วยการตรา พ.ร.บ. อนุวัติการ หนังสือสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่ว่านั้น   ซึ่งจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงอะไรไม่ได้เช่นกัน 
         (5) แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เจตนารมย์ของการควบคุมตรวจสอบการสร้างภาระผูกพันระหว่างประเทศ ตามมาตรา 224 ตามรัฐธรรมนูญ ฯ 2540  ซึ่งเป็นการควบคุมตรวจสอบ ปลายทาง  ในการทำหนังสือสัญญา หรือข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น     อาจกล่าวได้ว่าไม่ได้เป็นมาตรการเดียวที่จะมีการตรวจสอบ  ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้ว  กระบวนการใช้อำนาจอธิปไตย  จำเพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนที่อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ    ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลยังต้องผูกพันตนเอง และให้ความเคารพต่อบทบัญญัติแห่งการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  หรือต่อองค์กรตรวจสอบอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดเป็นกลไก  และ กระบวนการเอาไว้หลากหลายรูปแบบ  จึงกล่าวได้ว่าโดยหลักการเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญก็ดี  โดยเนื้อหาแห่งสิทธิเสรีภาพ  กลไก และกระบวนการที่รัฐธรรมนูญวางเงื่อนไขในการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ก็ดี ทำให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องมีข้อผูกพันทางกฎหมาย  และ จำต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง (Accountability) ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในขั้นตอน กระบวนการเจรจาทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ และหรือ อำนาจอธิปไตยของประเทศนี้ด้วย  
      กล่าวโดยสรุปการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เมื่อพิจารณาจากกรอบข้อตกลงที่ได้พิจารณาไว้แล้วตาม 3.1 ประกอบกับเงื่อนไขกระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน และรัฐธรรมนูญ ฯ ปัจจุบันตาม 3.2 แล้ว ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะต้องดำเนินการในสองระดับที่สำคัญคือ การดำเนินการให้ถูกต้องในเชิงกระบวนการการใช้อำนาจรัฐ (Due process) ซึ่งจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และ ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนามนำประเทศเข้าผูกพันในข้อตกลงดังกล่าวก็จะต้อง  เสนอเรื่องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ฯ พุทธศักราช 2540 มาตรา 224    เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าความผูกพันต่าง ๆ ที่รัฐไทยจะมีนั้น  เข้าเงื่อนไขตาม มาตรา 224 วรรคสอง ที่ชัดเจนที่สุดคือรัฐไทยจะต้องออก กฎหมายมารองรับ ขณะเดียวกันกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งเข้าเงื่อนไขตาม มาตรา 224  อย่างแจ้งชัดอย่างไม่ต้องสงสัย

ไม่มีความคิดเห็น: