รัฐธรรมนูญ:ทำไมต้องตีความ
ในบทความนี้ได้แบ่งการนำเสนอเนื้อหาสำคัญไว้เป็น 5 ส่วน คือ (1) การตีความ รัฐธรรมนูญกับพัฒนาการการตีความอำนาจของผู้ปกครอง (2) การตีความรัฐธรรมนูญกับที่มาแห่ง เหตุปัจจัยให้ต้องตีความ (3) การตีความรัฐธรรมนูญกับเงื่อนปมแห่งสถานะเฉพาะของความเป็น รัฐธรรมนูญ (4) การตีความรัฐธรรมนูญกับเหตุผลและความจำเป็น และ (5) การตีความรัฐธรรมนูญกับทฤษฎีและหลักการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. การตีความรัฐธรรมนูญกับพัฒนาการการตีความอำนาจของผู้ปกครอง
รัฐ (state) ในฐานะที่เป็นประชาคมการเมือง (political community) ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นรัฐที่มีรัฐธรรมนูญ (constitution) หรือไม่มีรัฐธรรมนูญก็ตามย่อมจะต้องมีระบอบการเมืองการ ปกครอง (political regime) และมีผู้ใช้อำนาจการปกครองหรือรัฐบาล (government) เป็นองค์ประกอบร่วมอยู่เสมอ และในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองของผู้ปกครองนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามแบบแผนของบรรทัดฐานอ้างอิงที่กำหนดไว้โดยระบอบการเมืองการปกครองด้วยเช่นกัน
สำหรับรัฐสมัยโบราณที่ยังไม่มีการใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนกับรัฐสมัยใหม่อย่างในปัจจุบัน ระบอบการเมืองการปกครองมักจะถูกกำหนดโดยหลักความเชื่อของผู้มีอิทธิพลสูงสุดของสังคมในขณะนั้น ซึ่งมีทั้งผู้มีอิทธิพลในฝ่ายศาสนจักร และผู้มีอิทธิพลในฝ่ายอาณาจักร โดยที่บรรทัดฐานหลักในการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองหรือรัฐบาล นั้น มักจะอ้างอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรม (legitimacy) เป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันนั้น ระบอบการเมืองการปกครองกลับถูกกำหนดโดยบทบัญญัติและธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร (written constitution) และรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณี (unwritten constitution) โดยที่บรรทัดฐานหลักในการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองหรือรัฐบาลนั้นมักจะอ้างอิงอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ความชอบด้วยกฎหมาย (legality) และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) เป็นสำคัญ
ความแตกต่างของบรรทัดฐานการกำหนดแบบแผนการใช้อำนาจของผู้ปกครองระหว่างรัฐสมัยโบราณที่ตั้งอยู่บนฐานของการอ้างอิงความชอบธรรม กับรัฐสมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของการ อ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย และความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้วสาระสำคัญของปัจจัยกำหนดความแตกต่างอยู่ที่เงื่อนไขในการให้การยอมรับอำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ หากจะกล่าวโดยเปรียบเทียบก็คือ ในรัฐสมัยโบราณซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยคน (rule of men) นั้น ให้การยอมรับอำนาจที่เกิดจากตัวของผู้ปกครองโดยตรง อำนาจของผู้ปกครองจึงถือเสมือนกับรัฐธรรมนูญได้ในตัวของมันเอง และในขณะเดียวกันในรัฐสมัยใหม่ซึ่งเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) รัฐธรรมนูญ กลับถือเสมือนอำนาจของผู้ปกครองเพราะรัฐสมัยใหม่ให้การยอมรับอำนาจที่เกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ใช่ เกิดจากตัวผู้ปกครองเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ ระบอบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยโบราณนั้น อำนาจของ ผู้ปกครองก็ถือเสมือนบ่อเกิดของรัฐธรรมนูญ โดยที่ยึดหลักความชอบธรรมเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครอง ส่วนระบอบการเมืองการปกครองของรัฐสมัยใหม่นั้น รัฐธรรมนูญก็ถือเสมือนบ่อเกิดอำนาจของผู้ปกครอง โดยที่ยึดหลักความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครอง
กรณีที่รัฐสมัยโบราณถือปฏิบัติในการยอมรับอำนาจของผู้ปกครองและการรักษาหลักความชอบธรรมในการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้น ก็คือหลักความเชื่อตามคติของผู้มีอิทธิพลสูงสุดในสังคม เช่น หากเป็นหลักความเชื่อตามคติของผู้มีอิทธิพลฝ่ายศาสนจักร หลักธรรมทางศาสนาก็จะเป็นแหล่งกำหนดเงื่อนไขการยอมรับอำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งก็คือ การแต่งตั้งผู้ปกครองโดยผู้นำสูงสุดฝ่ายศาสนจักรเป็นผู้กำหนดขึ้น หรือทำพิธีให้ซึ่งอาจปรากฏในรูปของการสวมมงกุฎเพื่อรับรองการขึ้นสู่อำนาจของผู้ปกครอง ส่วนบรรทัดฐานอ้างอิงความชอบธรรมของผู้ปกครอง อาจกำหนดขึ้นมาจาก หลักธรรมทางศาสนาโดยประยุกต์ให้เข้ากับเงื่อนไขทางการเมืองในรูปของธรรมะของผู้ปกครอง หรือ ที่เรียกว่า ธรรมราชา (King of Righteousness) ดังนั้น การมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองจะมีความชอบธรรมเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ปกครองสามารถยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมและประยุกต์หลักธรรมทางศาสนานั้นให้สอดคล้องกับปัญหาทางการเมืองและความต้องการของสังคมได้มากน้อยเพียงใดนั่นเอง
การตีความอำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งถือเสมือนการตีความรัฐธรรมนูญว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการประเมินความพึงพอใจของประชาชน และความพึงพอใจของผู้นำสูงสุดฝ่ายศาสนจักร โดยประชาชนจะตีความจากความสามารถของผู้ปกครองในการนำหลักธรรมมาใช้ประยุกต์เป็นเครื่องมือในการปกครองบ้านเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ส่วนผู้นำฝ่าย ศาสนจักรก็จะตีความจากการยึดมั่น หลักธรรมของผู้ปกครองในการใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง
นอกจากนี้ หากเป็นหลักความเชื่อตามคติแบบเทวราชา (The Devine Rights of the King) อำนาจของผู้ปกครองก็ถือว่ามาจากสรวงสวรรค์เป็นผู้ให้มา ซึ่งกำหนดโดยเทวดา หรือ พระเจ้า (God) ตามคติแบบเหนือมนุษย์เหนือธรรมชาติ (metaphysics) ความสามารถของผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการรับใช้โองการของสวรรค์ เพื่อทำให้บ้านเมืองมีความผาสุขร่มเย็น ไม่มีโจรผู้ร้าย ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน ดังนั้นการตีความอำนาจของ ผู้ปกครองว่า มีความชอบธรรมหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับภาวะธรรมชาติของดินฟ้าอากาศในขณะนั้นซึ่งถ้าหากมีเหตุเพทภัยให้เกิดภาวะวิปริตของดินฟ้าอากาศจนเป็นเหตุให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดีได้ ก็หมายถึงว่าผู้ปกครองอาจขัดกับโองการของสวรรค์หรือไม่สามารถสนองโองการของสวรรค์ได้ จึงตกอยู่ในภาวะที่ขาดความชอบธรรมในการมีและใช้อำนาจตามไปด้วย
สำหรับกรณีของรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้รัฐธรรมนูญกันอย่างแพร่หลายแล้วนั้น อาศัยบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ และอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตประเพณีของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเครื่องมือในการยอมรับการมีและการใช้อำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ส่วนในการตีความอำนาจของผู้ปกครองก็เช่นเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญว่าการมีและใช้อำนาจของผู้ปกครองนั้นมีความชอบตามกฎหมายและมีความชอบตาม รัฐธรรมนูญหรือไม่ แทนที่จะอาศัยหลักความเชื่อตามคติแบบต่าง ๆ และการอ้างอิงบรรทัดฐานด้านความชอบธรรมตามคติความเชื่อนั้น ๆ เหมือนกับวิธีปฏิบัติของรัฐในสมัยโบราณ
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งมีการใช้รัฐธรรมนูญและต้องมีการตีความ รัฐธรรมนูญ (interpretation of the constitution) ด้วยนั้น ย่อมต้องกำหนดระเบียบวิธี (method) ในการตีความที่แตกต่างไปจากกรณีของรัฐสมัยโบราณด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความต้องการของแต่ละประเทศ สำหรับรูปแบบการตีความรัฐธรรมนูญที่มีการใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ นั้น มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ (1) การอาศัยรูปแบบของศาลสูงสุด (Supreme Court) (2) การอาศัย รูปแบบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (Constitutional Tribunal) และ (3) การอาศัยรูปแบบของศาล รัฐธรรมนูญ (Constitutional Court)
2. การตีความรัฐธรรมนูญกับที่มาแห่งเหตุปัจจัยให้ต้องตีความ
รัฐธรรมนูญถือเป็นศูนย์รวมของบรรดาสิ่งที่เรียกว่ามีความสูงสุดในทุก ๆ เรื่องของรัฐไว้และมีบทบาทในการสร้างผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของรัฐในวงกว้าง และในขณะเดียวกัน ผลกระทบเหล่านั้น ก็ได้ขยายวงครอบคลุมไปถึงการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของรัฐด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐธรรมนูญ
จึงถูกจัดวางให้มีตำแหน่งแห่งที่อันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งเมื่อเทียบกับบรรดาสถาบันทางการเมืองการ ปกครองทั้งหลายของประเทศ
ในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของรัฐธรรมนูญให้มีฐานะอันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งนั้น นอกเหนือจากการวางหลักการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ (The Rule of Law) ของรัฐต่าง ๆ แล้ว ก็ยังสามารถพบเห็นได้จากกรณีอื่นที่มีการยกฐานะความสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้ให้มีความสูงเด่นเป็นพิเศษในหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ (1) การเป็นกฎหมายสูงสุด หรือเป็นกฎหมายที่กฎหมายอื่นขัดหรือแย้งไม่ได้ (supreme law) (2) การเป็นกฎหมายสร้างอธิปไตยสูงสุด (ultimate of sovereignty) (3) ความสูงสุดของการเป็นกฎหมายหรือเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่ากฎหมายอื่น (supremacy of law) (4) การเป็นกฎหมายกำหนดรากฐานทางการเมืองการปกครองของประเทศ (fundamental law) (5) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมืองการปกครองของประเทศ (constitutionalism) ซึ่งครอบคลุมทั้งการจำกัดควบคุมอำนาจรัฐและการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน (6) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุอุดมการณ์สูงสุดทางการเมืองการปกครองของสังคมคอมมิวนิสต์ (constitution - program) ซึ่งครอบคลุมถึงการกำกับแผนงานโครงการของรัฐให้สนองเป้าหมายนโยบายที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดไว้ และ (7) การเป็นกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมและการเมืองของระบอบสังคมนิยม (constitution - politics and societies) ซึ่งครอบคลุมถึงการกำกับควบคุมกลไกการเมืองการปกครองให้สามารถรับใช้หรือสนองตอบต่อเป้าหมายสูงสุดของสังคมตามกรอบนโยบายแบบสังคมนิยม
ด้วยการจัดวางตำแหน่งแห่งที่อันมีความสำคัญอย่างสูงยิ่งของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้เกิดเงื่อนไขอันเป็นเหตุปัจจัยกำหนดที่มาของการตีความรัฐธรรมนูญใน 4 เหตุปัจจัยด้วยกัน คือ
(1) เหตุปัจจัยจากภายในรัฐธรรมนูญ
(2) เหตุปัจจัยจากภายนอกรัฐธรรมนูญ
(3) เหตุปัจจัยในการใช้รัฐธรรมนูญผลักดันอิทธิพล
(4) เหตุปัจจัยในการใช้อิทธิพลผลักดันรัฐธรรมนูญ
1. เหตุปัจจัยจากภายในรัฐธรรมนูญ คือ เหตุปัจจัยที่เกิดจากการใช้รัฐธรรมนูญ นั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของแนวคิดแบบลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) ที่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญสามารถสร้างวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองได้ ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ให้เกิดผลทางปฏิบัติเป็นเบื้องต้นด้วย
ความเชื่อมั่นในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดผลตามรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริงนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างหลักประกันไว้รองรับ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในกระบวนการนำรัฐธรรมนูญไปใช้นั้น จะนำไปสู่การเกิดผลตามรัฐธรรมนูญได้อย่างแท้จริง และหลักประกันดังกล่าวก็คือ หลักปฏิบัติที่เรียกว่า ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) นั่นเอง
แนวปฏิบัติที่นำไปใช้เพื่อควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อไม่ให้มีการละเมิดรัฐธรรมนูญในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญไม่ว่าการละเมิดโดยวิธีการใช้รัฐธรรมนูญ (means) หรือการละเมิดโดยผลของการใช้รัฐธรรมนูญ (ends) ก็ตาม
มาตรการที่ใช้ในการปกป้องคุ้มครองการละเมิดรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งในการควบคุมผู้ใช้รัฐธรรมนูญนั้นสามารถกระทำได้ใน 2 มาตรการด้วยกันคือ (1) การควบคุมฐานะทางอำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และ (2) การควบคุมการใช้อำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ
ในการควบคุมฐานะทางอำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิด รัฐธรรมนูญโดยวิธีการใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือต้นทางของการป้องกันรัฐธรรมนูญมิให้ ถูกละเมิดในลำดับต้น กล่าวคือ เป็นการป้องกันมิให้ผู้ไม่มีฐานะอำนาจตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น สถาบันนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมายแต่กลับเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายเสียเอง หรือในทางกลับกัน สถาบันตุลาการซึ่งมีหน้าที่ตีความกฎหมายแต่กลับออกกฎหมายเสียเอง เป็นต้น
ส่วนในการควบคุมการใช้อำนาจของผู้ใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิด รัฐธรรมนูญ โดยผลของการใช้รัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นจุดปลายทางของการทบทวนผลจากการใช้ รัฐธรรมนูญ หรือเป็นการป้องกันควบคุมที่ปลายทางของการใช้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นการป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจใช้รัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้นั้นก่อผลเสียต่อรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น สถาบันนิติบัญญัติซึ่งมีอำนาจออกกฎหมาย แต่กฎหมายที่สถาบันนิติบัญญัติออกมาใช้นั้นเป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันกับสถาบันบริหารและสถาบันตุลาการที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายตามลำดับ แต่การใช้อำนาจนั้นเป็นการใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมาย และ ตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ฯลฯ เป็นต้น
2. เหตุปัจจัยจากภายนอกรัฐธรรมนูญ คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้องหรือเกิดขึ้นตามมาพร้อมกับการใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายที่ใช้ในการวางกรอบเค้าโครงการใช้อำนาจของสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นกติกาสูงสุดในการปกครอง ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญถูกใช้เพื่อวางกติกาหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็จะมีผลให้สถาบันทางการเมืองการปกครองทั้งหลายในระบบการเมืองนั้น จำเป็นจะต้องมีการจำกัดควบคุมอำนาจให้เป็นไปตามกรอบกำหนดของ รัฐธรรมนูญด้วย เช่นเดียวกันกับการปกครองในระบอบสังคมนิยม และระบอบคอมมิวนิสต์ที่รัฐธรรมนูญ จะต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุจุดมุ่งหมายทางสังคมและการเมืองตามเป้าหมายอุดมการณ์ทางการเมืองของระบบการเมืองนั้น
การที่ระบบการเมืองต้องอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองทั้งหลาย และในขณะเดียวกันระบบการเมือง โดยเฉพาะระบบทางการเมืองที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบที่จำเป็นต้องจำกัดควบคุมอำนาจด้วยนั้น ย่อมส่งผลกระทบเชื่อมโยงต่อไปถึงความจำเป็นในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อกำกับควบคุมการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองในทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วย
ในการจำกัดควบคุมอำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครอง โดยอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมนั้น เป้าหมายหลักมิได้เป็นมาตรการเชิงรับเพื่อการปกป้องคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเองโดยตรง แต่เป็นมาตรการเชิงรุกที่จะใช้รัฐธรรมนูญในการปกป้องคุ้มครองสถาบันทาง การเมืองการปกครองด้วยกันเองและปกป้องคุ้มครองประชาชนจากสถาบันทางการเมืองการปกครองเป็นเป้าหมายสำคัญ
มาตรการดังกล่าวจึงมุ่งไปที่การกำหนดขอบเขตอำนาจที่แน่นอนของสถาบันทางการเมืองการปกครองไว้ และการกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองการปกครองเหล่านั้นไว้ให้มีทิศทางที่ชัดเจนด้วย เหมือนกับการออกแบบรถยนต์ไว้ให้มีพิกัดความเร็วสูงสุด ที่แน่นอนไว้ ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเส้นทางที่รถยนต์สามารถใช้วิ่งได้ให้มีความชัดเจนพร้อมกันไปด้วย
ผลจากการจำกัดควบคุมอำนาจของสถาบันทางการเมืองการปกครองดังกล่าว อาจเทียบได้กับการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนหรือประชาชนไม่ให้ถูกรถชน หรือ คุ้มครองไม่ให้รถชนกันเองด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นคนละเป้าหมายกันกับการปกป้องคุ้มครองกฎจราจรหรือการปกป้องคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญ
3. เหตุปัจจัยในการใช้รัฐธรรมนูญผลักดันอิทธิพล คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากผู้ใช้ รัฐธรรมนูญมุ่งหวังผลลัพธ์และผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ จึงต้องการแปลงรัฐธรรมนูญให้เกิดผลเชิงนโยบาย ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเองมีสถานะที่มีความเป็นนามธรรม (abstract) และ มีความสถิตย์อยู่คงที่ (static) แต่เมื่อรัฐธรรมนูญถูกใช้เมื่อใดสถานะของรัฐธรรมนูญก็จะเปลี่ยนจากภาวะนามธรรมไปเป็นรูปธรรม (concrete) และเปลี่ยนจากความสถิตย์อยู่คงที่ไปเป็นภาวะพลวัต (dynamic) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญจะถูกผันแปรสภาพไปตามสภาพการใช้ (implementation) นั่นเอง ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขพื้นฐานของความต้องเป็นไปเช่นนั้น (suchness) ที่ว่า รัฐธรรมนูญจะถูกใช้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะถูกตีความว่าอย่างไร
ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐธรรมนูญโดยตัวของมันเองจะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่ความหมายของรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญนั้นถูกเอาไปใช้และตีความ ดังนั้น หากผู้ใช้มุ่งหวังผลเชิงนโยบายให้เกิดเป้าหมายเช่นไรหรือมุ่งหวังให้มีผลลัพธ์และผลกระทบเช่นไร ผู้ใช้รัฐธรรมนูญก็จะตีความรัฐธรรมนูญและใช้รัฐธรรมนูญไปตามทิศทางของเงื่อนไขนั้น ซึ่งโดยรวมถือว่าเป็นการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อผลักดันให้เกิดอิทธิพลอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้นั่นเอง
แนวทางในการปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญจากเหตุปัจจัยดังกล่าวจึงมุ่งเป้าไปที่การ ควบคุมการใช้ดุลพินิจการตีความรัฐธรรมนูญของผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้นมาตรการในการรองรับแนวทางดังกล่าว จงต้องเปิดโอกาสให้ผู้รับผลกระทบจากการใช้รัฐธรรมนูญสามารถใช้สิทธิโต้แย้งได้ โดยตรง และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องให้มีการทบทวนหรือตีความใหม่เพื่อแก้ไขใหม่ได้ด้วยหากการโต้แย้งนั้นได้รับการพิสูจน์และยืนยันผลจนเป็นที่ยุติจากองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการตีความชั้นสุดท้ายแล้วอย่างเช่นองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
4. เหตุปัจจัยในการใช้อิทธิพลผลักดันรัฐธรรมนูญ คือเหตุปัจจัยที่เกิดจากผู้อื่นที่มีส่วนได้เสียจากการใช้รัฐธรรมนูญ แต่มิได้เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญเองโดยตรง มีเป้าหมายเชิงนโยบายต่อผู้ใช้รัฐธรรมนูญและมีความประสงค์ที่จะสร้างอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญเองโดยตรงก็ตาม เพื่อหวังผลลัพธ์หรือผลกระทบอย่างหนึ่งอย่างใดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น ให้มีการงดการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือทำให้รัฐธรรมนูญไม่ถูกใช้ให้มีผลทางปฏิบัติได้ หรือให้ใช้รัฐธรรมนูญตามเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับตนหรือเป็นโทษกับคนอื่น หรือแม้แต่การเรียกร้องให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญไปในที่สุด
จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการถูกทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของรัฐธรรมนูญและทำให้รัฐธรรมนูญไร้ผลได้ในที่สุด กล่าวอีกนัยก็คือ การทำให้รัฐธรรมนูญตกอยู่ในสภาพที่ชำรุด เสียหาย หรือใช้การไม่ได้ (defunct) นั่นเอง เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญถูกแทรกแซงและถูกกำกับครอบงำจากอิทธิพลภายนอกซึ่งส่งผลต่อการทำลายตัวรัฐธรรมนูญโดยตรง
กรณีเช่นนี้ต้องมีมาตรการในการรักษาความเที่ยงตรงในหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญไว้ (principle maintenance) โดยการควบคุมสภาพการบังคับใช้ หรือการใช้บังคับได้ของรัฐธรรมนูญ (enforcement control) ให้มีความต่อเนื่อง (continuity) และไม่มีช่องว่างหรือช่องโหว่ ในการใช้ รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องสร้างกลไกและช่องทางให้มีการป้องกันตัวเอง (self defense) ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งสร้างกลไกในการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญในฝ่ายที่เป็นกลางไม่มีส่วนได้เสียใด ๆ จากรัฐธรรมนูญและมีความชำนาญพิเศษ ทั้งนี้เพื่อช่วยรองรับความต่อเนื่องของการใช้ รัฐธรรมนูญไว้ได้ ในรูปของการสร้างบรรทัดฐานในการอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ หรือในรูปของการวางแนวธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ (constitutional conventions)
ในการพื้นฟูความชำรุดเสียหายของรัฐธรรมนูญที่เกิดจากอิทธิพลที่มุ่งผลต่อการทำร้ายรัฐธรรมนูญให้มีความเบี่ยงเบนชะงักงันหรือไม่ให้มีผลใช้บังคับในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น หากจะให้รัฐธรรมนูญกลับฟื้นคืนสภาพและสามารถมีผลบังคับใช้ได้ต่อไปแล้ว คงไม่สามารถบำบัดแก้ไขได้โดยอาศัยการขจัดอิทธิพลที่เข้ามากระทบต่อรัฐธรรมนูญให้หมดไปได้โดยตรง เพราะอิทธิพลดังกล่าวเป็นสภาพการณ์ปกติทางสังคม - การเมือง (socio - politics) ทั่วไปที่ไม่มีมาตรการใดที่จะสามารถสร้างความเห็นพ้องร่วม (consensus) ในรัฐธรรมนูญได้อย่างเบ็ดเสร็จ (absolute) หรือสามารถประสานประโยชน์ร่วม (common interests) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หรือแม้แต่การปรับแก้ (correct) สภาพพลวัตที่กระทบต่ออำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องเข้ากันได้กับรัฐธรรมนูญอยู่อย่างคงเส้นคงวาตลอดไปได้
ดังนั้นการรักษาหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ การควบคุมสภาพการบังคับใช้ของ รัฐธรรมนูญ การสร้างความสืบเนื่องของรัฐธรรมนูญ การอุดช่องว่างของรัฐธรรมนูญ การสร้างบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญ และการวางธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการฟื้นฟูรัฐธรรมนูญให้คงสภาพของการบังคับใช้ให้มีความสืบเนื่องต่อไปได้ ซึ่งในการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ย่อมจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกป้องกันรัฐธรรมนูญในรูปของการตีความรัฐธรรมนูญ เป็นมาตรการหลัง
3. การตีความรัฐธรรมนูญกับเงื่อนปมแห่งสถานะเฉพาะของความเป็นรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญเป็นเอกสารพิเศษที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเอกสารที่บ่งบอกถึงสถานะและสภาวะการณ์เกี่ยวกับรัฐด้านต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งเรื่องวิถีชีวิตของพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น (1) การบ่งบอกถึงสภาพวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง (2) การบ่งบอกถึงเอกราชอธิปไตยของประเทศในประชาคมการเมืองระหว่างประเทศ (3) การบ่งบอกถึงลัทธิและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศ และ (4) การบ่งบอกถึงสภาพปัญหา แนวทางการแก้ปัญหาและจุดมุ่งหมายของประเทศ ฯลฯ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญมีความสำคัญเป็นพิเศษดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเฉพาะหลายประการที่กำหนดสถานะของความเป็นรัฐธรรมนูญให้แตกต่างไปจากเอกสารหรือกฎหมายอื่นของรัฐ ซึ่งสามารถประมวลได้ใน 6 ลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
(1) ความเป็นศูนย์รวมความหลากหลายซับซ้อน
(2) ความเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์
(3) ความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน
(4) ความเป็นกลไกกำหนดเป้าหมาย
(5) ความเป็นเบ้าหลอมความต้องการ
(6) ความเป็นกฎหมาย
1. ความเป็นศูนย์รวมความหลากหลายซับซ้อน รัฐธรรมนูญเป็นที่รวมของความหลากหลายซับซ้อนที่รวมเอาความแตกต่าง 3 อย่างมาไว้ในที่เดียวกัน คือ (1) ส่วนของเนื้อหา (content) (2) ส่วนของการปฏิบัติ (implementation) และ (3) ส่วนของนโยบาย (policy)
ส่วนของเนื้อหา (content) นั้น รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาแฝงอยู่หลายนัย ทั้งนัยที่เป็นความหมายตามตัวหนังสือ (letter meaning) และนัยที่เป็นเจตนารมณ์ (spirit) และแม้แต่ในส่วนของความหมายเองก็ยังมีความหมายที่ซ้อนกันอยู่หลายชั้นทั้งในส่วนที่เป็นความหมายเชิงข้อเท็จจริง (fact) ความหมายเชิงปรัชญา (philosophy) ความหมายเชิงแนวความคิด (concept) ความหมายเชิงเทคนิค (terms) ความหมายเชิงเชื่อมโยง (relationship) และความหมายเชิงพาดพิง (side impact) หรือ แม้แต่ในส่วนของเจตนารมณ์ก็เช่นกันจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งเจตนารมณ์หลักหรือเจตนารมณ์ทั่วไป (major spirit) และเจตนารมณ์รองหรือเจตนารมณ์เฉพาะ (minor spirit) ด้วย
ส่วนของการปฏิบัติ (implementation) นั้น รัฐธรรมนูญมีการนำไปใช้และใช้อย่างผ่านกระบวนการ (processing) ที่มีความซับซ้อน (complication) ด้วย ซึ่งในการนำไปใช้โดยผ่านกระบวนการนั้นต้องประกอบด้วยการนำไปใช้ได้ (practicability) และใช้ให้ได้ผลตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องหรือด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (constitutionality) ด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการก่อผลลัพธ์ (output) เช่นการรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกละเมิด รวมทั้งขยายผลไปสู่การแสวงหาผลได้ (ultimate outcome) เช่นการแก้ไขหรือยุติปัญหาที่เป็นกรณีพิพาทจากการใช้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ เสร็จสิ้นลงไป และการควบคุมผลกระทบที่พึงประสงค์ (impact control) จากการใช้รัฐธรรมนูญอีกด้วยเช่นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำกรณีเดิม หรือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องอื่นเพิ่มขึ้นมาใหม่ หรือการสร้างเงื่อนไขให้เกิดทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร หรือการกระตุ้นให้เกิดผลพวงต่อการปฏิรูปการเมืองต่อไปในอนาคตระยะยาว ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนของนโยบาย (policy) นั้น รัฐธรรมนูญถูกจัดทำขึ้นและถูกนำไปใช้ภายใต้กรอบกำหนดเชิงนโยบายจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย (stakeholders) ซึ่งครอบคลุมทั้งฝ่ายผู้จัดทำหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายสถาบันนิติบัญญัติผู้พิจารณาและรับรองรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารและองค์กรหลักผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรง ฝ่ายตุลาการผู้ตีความรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่มีส่วนได้เสียหรือรับ ผลกระทบจากรัฐธรรมนูญกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ภาคีที่หลากหลายเหล่านี้เข้ามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อ รัฐธรรมนูญอย่างแตกต่างหลากหลายและมีความสลับซับซ้อนตามไปด้วย
2. ความเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์ รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกระจกสะท้อน ภาพลักษณ์ด้านต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเมืองการปกครอง ว่ามีสภาพวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองเช่นไร มีพัฒนาการในระดับใด โดยเฉพาะการบ่งบอกถึงสถานภาพทางการเมืองการปกครองในเชิงเปรียบเทียบทั้งเป็นการเปรียบเทียบภายในประเทศ และเปรียบเทียบระหว่างประเทศ
ความสำคัญของการเป็นกระจกสะท้อนภาพลักษณ์ดังกล่าว นอกจากเป็นการบ่งบอกสภาวะการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศแล้วยังเป็นจุดเชื่อมโยงกับเงื่อนไขของวิธีการและ เป้าหมายในการใช้รัฐธรรมนูญ หรือในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้ในทางปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขในการกำกับควบคุมแนวทาง (conduct) วิธีการใช้รัฐธรรมนูญให้มีความสืบเนื่องตามลำดับ ขั้นตอนของสภาพการณ์ทางการเมืองในช่วงชั้น หรือลำดับขั้นตอนต่าง ๆ (sequence) อย่างมี ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขของลำดับขั้นการวิวัฒนาการ ระดับ ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยนำทาง (guide) ในการปรับตัวของกลไกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญให้ดำเนินไปในรูปแบบและทิศทางร่วมกัน ไม่เกิดความแตกต่างและขัดแย้งแตกแยกที่รุนแรง (moderation) รวมทั้งการช่วยสร้างสมานฉันท์ทางการเมือง (political consensus) ร่วมกันระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มีความเป็นเอกภาพและมีความปึกแผ่นมั่นคงได้ ที่สำคัญคือ การรักษาความต่อเนื่องในการใช้รัฐธรรมนูญและการรักษารัฐธรรมนูญให้มีเสถียรภาพได้ด้วย
3. ความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน รัฐธรรมนูญเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญในแนวทางที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเมือง (political reform) หรือเป็นกรอบกำหนดเค้าโครงในการออกแบบการเมือง (political framework) ด้วยนั้น ถือว่ารัฐธรรมนูญเป็น จักรกลหลักที่ใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาการใหม่ ๆ ทางการเมือง (political innovation) ให้มีความก้าวหน้า (advancement) ไปได้
รัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ไม่ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศยุโรป อย่างเช่นฝรั่งเศส เยอรมัน และอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ระบอบสังคมนิยม (Socialism) หรือแม้แต่ระบอบคอมมิวนิสต์ (Communism) ก็ตาม ล้วนมีแนวทางในการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญทางการเมืองการ ปกครอง (correction) พร้อม ๆ กันไปกับการผลักดันการพัฒนาทางการเมือง (development) ใน เป้าหมายต่าง ๆ ด้วยเสมอ เช่นเดียวกับกรณีของไทยในปัจจุบันที่มุ่งใช้รัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป การเมือง โดยมีเป้าหมายร่วมกันทั้งการแก้ไขปัญหา การดัดแปลงและการปรับปรุงเพื่อพัฒนาการเมืองการปกครอง
การใช้รัฐธรรมนูญตามแนวทางดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อลักษณะทางการเมืองการปกครองของประเทศ โดยเฉพาะการก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือที่เรียกว่าการสร้างพลวัตทางการเมือง (political dynamic) ทำให้สภาพการเมืองการปกครองของประเทศตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งจะตกอยู่ในห้วงของการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในระยะต่าง ๆ และการใช้ความพยายามในการปรับตัวอย่างเข้มงวดและมีความถี่สูงระหว่างสถาบันทางการเมืองฝ่ายต่าง ๆ
จุดที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับลักษณะความเป็นแหล่งกำเนิดพลังขับเคลื่อนของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็คือการใช้รัฐธรรมนูญอย่างมีพลวัต ซึ่งต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญใน 3 ประการด้วยกันคือ (1) การสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (political change) (2) การแก้ไขปัญหาทางการเมือง (political correction) และ (3) การสร้างพัฒนาการใหม่ทางการเมือง (political advancement) ซึ่งข้อคำนึงดังกล่าวเป็นการให้น้ำหนักหรือจุดเน้นในการใช้รัฐธรรมนูญในเงื่อนไขที่มีพลวัตคือต้องตระหนักในการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองให้มีความ ก้าวหน้ามากกว่าการใช้รัฐธรรมนูญแบบหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถอยหลังเข้าคลอง หรือใช้ในเชิงอนุรักษ์นิยม (conservative) เพราะแนวทางดังกล่าวจะโน้มเอียงไปในทิศทางของการต่อต้านรัฐธรรมนูญมากกว่าสนับสนุนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น