3. ภาพรวมของเอฟทีเอ “อำนาจ” และ “กระบวนการใช้อำนาจ”
(1). ขอบเขตและนัย ของข้อผูกพัน
ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ
มีสถานะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ ต่อ รัฐ มีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งมี
“รัฐ (State)” ประเทศไทย
และ รัฐคู่ภาคีเป็นบุคคลตามกฎหมาย
(Legal personality) ข้อตกลงมีผลผูกพันในทางกฎหมาย(Legal
binding) เมื่อได้มีการลงนามเซ็นสัญญากันไปแล้ว
จะเกิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ (International obligations) ต่อรัฐที่ลงนามโดยการนำไปกำหนดเป็นหลักการทางกฎหมายภายใน (Domestic
law) ทั้งนี้โดยการกำหนดนโยบายและกฎหมายภายในที่ว่านี้
จะต้องทำให้สอดคล้อง (Compliance) กับข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้
ตามเงื่อนไข หลักการ หรือ กรอบระยะเวลาที่กำกับไว้ในข้อตกลง
ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญทาง กฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดถือปฏิบัติ
(State practice) กันในระหว่างประเทศที่ว่า เมื่อได้ลงนามทำข้อตกลงสัญญาไว้อย่างไร คู่สัญญาจะต้องให้ความเคารพยึดถือปฏิบัติตามต่อข้อตกลงที่ได้ทำไว้นั้น (pacta sunt servanda) ด้วยเหตุนี้ข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงผูกมัดและสร้างความสัมพันธ์ต่อองค์กรทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา) และ
อำนาจตุลาการ กล่าวคือทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภามีความผูกพันในการตรากฎหมาย ให้จำกัดอยู่ในกรอบของข้อตกลง
เพียงเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้
ขณะที่ตุลาการก็มีความผูกพันในการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี ตามกฎหมายที่จะตราขึ้นตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเช่นกัน
แต่โดยมากแล้ว ระบบระงับข้อพิพาทในความตกลงประเภทนี้
จะมีกระบวนการระงับข้อพิพาทพิเศษต่างหากออกไป
ด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือมีคณะที่จะมาระงับข้อพิพาทเองต่างหาก
ด้วยวิธีพิจารณาที่เป็นอิสระจากองค์กรตุลาการที่มีอยู่ภายในประเทศ
จึงจะเห็นได้ว่า ฐานะของข้อตกลงเอฟทีเอนั้นครอบคลุมและสร้างความเอกเทศในกฎข้อตกลงที่ประกอบเป็นข้อตกลงทั้งหมด ทั้งยังรวมถึง แนวทางวิธีการตีความในข้อตกลง
หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความ ซึ่งจะเป็นกรอบในการตรากฎหมายภายใน
ขณะเดียวกันก็มีองค์กรที่เป็นศาลพิเศษที่จะชำระความได้เอง
โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจศาลของรัฐใดรัฐหนึ่งที่ได้ทำข้อตกลงกัน
สำหรับกรณีประเทศคู่เจรจาทำข้อตกลง
ที่มีระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกัน
เช่น อยู่ในรูปแบบสหพันธ์รัฐ (Federal states)
เป็นแคว้นหรือมณฑลยิ่งกลับทำให้เกิดปัญหาในเขตอำนาจทางกฎหมาย
(Jurisdiction) มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะขอบเขตของข้อผูกพันระหว่างประเทศ (International obligations) นั้นจะครอบคลุม ประเทศทั้งหมดซึ่งรวมถึงมลรัฐ หรือมณฑลต่าง ๆ ภายในรัฐนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด เพราะมลรัฐ แคว้นหรือมณฑลบางที่สามารถออกกฎหมายขึ้นมาใช้กำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้า
หรือ ภาษีได้เอง
มีกระบวนการบังคับใช้และวินิจฉัยชี้ขาดเอง เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่การทำข้อตกลงเอฟทีเอของไทยเผชิญอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี
ที่ทำกับประเทศจีน ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาล่วงหน้าเสียก่อนทำให้
เกิดปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาด เพราะติดปัญหาเรื่องเขตอำนาจทางกฎหมายที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในมณฑล
ปฏิเสธข้อผูกพันที่รัฐบาลกลางได้เซ็นสัญญาลงนามไว้
โดยอ้างว่าไม่มีผลผูกพันกับมณฑล
ฉะนั้นปัญหาเรื่อง “ขอบเขต” ของการบังคับให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงเอฟทีเอในทางกฎหมายจะมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใดหลังจากได้ลงนามไปแล้ว มีเรื่องใดบ้างที่ยังคงถือเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐ
และ ต่อกรณีทีเป็นรัฐที่มีการปกครองแบบมลรัฐ หรือ มณฑล แล้วแต่กรณีนั้น จะมีความผูกพันในข้อตกลงเอฟทีเอในขอบเขตเพียงใด เป็นปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจตามกฎหมาย ที่สลับซับซ้อนซ่อนอยู่ภายในข้อตกลงที่ไม่อาจจะมองข้ามได้
หากต้องการให้ข้อตกลงมีผลใช้บังคับ
(2). ภาษี (Tariff) และ
มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-Tariff barrier, NTB)
2.1 มาตรการทางภาษี
การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ การลดลงของภาษีในสินค้ามักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่าเป็นผลสำเร็จ
และ ให้เหตุผลว่าการทำข้อตกลงเขตการค้าหรือ
เอฟทีเอ นั้นดี มีประโยชน์ต่อการส่งออกอย่างไร เมื่อภาษีสินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่เจรจาลดลงเหลือ
“ศูนย์” เปอร์เซ็นต์
การอธิบายโดยหยิบยกเอาการลดลงของภาษีที่ลดลงและคาดการณ์ว่าจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีการยกเอาจำนวนประชากรของประเทศคู่เจรจามาคำนวณคาดคะเนถึง
ระดับหรือขนาดของตลาด เช่น
มีการฝันหวานคาดคะเนและใช้สมมุติฐานที่ว่า “หากคนจีนรับประทานทุเรียน
หรือ มังคุดกันคนละกิโล
ขนาดของตลาดสินค้าผลไม้ทั้งสองประเภทนี้จะกว้างใหญ่ไฟศาลขนาดไหน” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า หากการตัดสินใจทำข้อตกลงเอฟทีเออยู่บนฐานของตัวเลขการขึ้นลงของภาษี ประกอบกับจำนวนประชากรของประเทศคู่เจรจา
อย่างที่ใช้อธิบายกรณีการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีนนั้น
อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลและคำอธิบายจากฐานคิดเช่นนี้ น่าจะบกพร่องไม่ถูกต้องเป็นจริงอย่างที่ได้ตั้งสมมุติฐานเอาไว้เลย และไม่น่าจะนำมาประกอบการตัดสินใจในทางนโยบายได้เลยทั้งนี้ เพราะการเข้าสู่ตลาดสินค้าของจีน ผู้ส่งออกผักผลไม้ไทยยังต้องเผชิญกับการบังคับให้ต้องจ่ายค่าภาษีอื่น
ๆ ในการจำหน่ายสินค้าอีกหลายระบบ
ขณะเดียวกันกับการกระจายสินค้าในจีนกลับถูกจำกัดเฉพาะคนสัญชาติจีนพร้อม
ๆ กับการถูกตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อหาสารเคมีตกค้าง
จนทำให้สินค้าที่ส่งไปจากประเทศไทยเน่าเสียหายก่อนที่จะถูกนำไปขาย
ตัวอย่างในกรณีของจีนซึ่งไม่มีการศึกษามาก่อนจึงเข้าลักษณะ “ทำไปแก้ไป” เหตุผลการตัดสินใจทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีนจึงไม่สัมพันธ์กับข้ออ้างหรือสมมุติฐานที่วาดฝันไว้
จึงมีข้อกังขามาก ถึงความรอบคอบในการตัดสินใจว่าได้มีการศึกษาวิจัยดีพอแล้วหรือยังก่อนที่จะเข้าเจรจาทำข้อตกลงกับประเทศต่าง
ๆ
ถึงกระนั้นก็ตาม กรณีการยกเลิกภาษี
(Eliminate the tariff) หรือ การลดภาษีศุลกากรนำเข้าให้ลดลงเหลือ
ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมในการดำเนินนโยบายอีกด้วย
กล่าวคือ ในทางความเป็นจริง
ตัวภาษีหาได้แสดงถึงตัวเลขการขึ้นลงแต่อย่างเดียวไม่
แต่ภาษียังสะท้อนถึงนโยบายและความเป็นธรรมที่รัฐสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้โดยเฉพาะการนำนโยบายภาษีมาใช้กับการจัดการเศรษฐกิจเพื่อสังคม
(Socio-economic) ที่รัฐสามารถใช้เพื่อบรรลุถึงนโยบายที่จะพัฒนาส่งเสริมการผลิตท้องถิ่น
หรือการสนับสนุนและใช้มาตรการทางภาษีมาประยุกต์ใช้กับ นโยบายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง ผลในทางตรงข้าม หากมีการลดภาษีหรือยกเลิกภาษีที่ทำให้สินค้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้าสู่ตลาด อันจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นอยู่แต่เดิมต้องได้รับความเสียหายจากความสามารถที่ไม่อาจแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศได้
ตัวอย่างที่สามารถอธิบายในกรณีนี้ได้ดี
จะเห็นได้จากข้อตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศออสเตรเลีย TAFTA
(Thai-Australia Free Trade Agreement) ที่ลดภาษีสินค้าประเภทนม
และโคเนื้อลงเหลือเท่ากับศูนย์ ย่อมจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเป็นล้านครอบครัว
ถึงต้องสูญเสียอาชีพเพราะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศออสเตรเลียได้
จึงแสดงให้เห็นว่า นัยยะภาษีนั้นมีความเชื่อมโยง
สัมพันธ์ที่กว้างขวางกว่าการขึ้นลงของตัวเลข
ตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้สามารถอธิบายได้อีกจากสินค้า ผักสดและผลไม้จากประเทศจีนที่ตีตลาดไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนทำให้เกษตรกรที่ทำการผลิตผักผลไม้ทางภาคเหนือขายผลผลิตของตนสู้กับสินค้าชนิดเดียวกันกับประเทศจีนไม่ได้
ถึงขนาดต้องถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนอาชีพที่ได้ทำมากว่าร้อย ๆ
ปีไปอย่างง่ายๆ เพราะผลจากการลดภาษีจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีน
จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการลดภาษีว่ามีส่วนสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอย่างไร
โดยพวกเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสรับรู้มาก่อนล่วงหน้า
ในกรณีการลดภาษีสินค้า
ยังมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญที่น่าจะพิจารณาต่อไปได้อีกในกรณีการจัดจำแนกประเภทสินค้า ทั้งนี้เพราะการเจรจาทำข้อตกลงเอฟทีเอจะมีการแบ่งประเภทสินค้าเป็นประเภทต่าง
ๆ เช่น 1) Sensitive สินค้าอ่อนไหว, 2)
Normal สินค้าที่ลดภาษีกันตามปกติอันเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้
แต่อาจต้องใช้เวลาปรับตัว, 3) Reciprocal สินค้าที่ลดภาษีพร้อมกัน 2 ฝ่ายซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้
4) Unilateral สินค้าที่ไทยพร้อมลดภาษีฝ่ายเดียว
ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ และ 5) Early Harvest สินค้าที่ไม่มีปัญหาสามารถตกลงกันได้ก่อน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นสินค้าที่ถูกจัดใส่เข้าสู่บัญชีประเภทสินค้าแต่ละประเภท
ๆ เพื่อนำไปสู่การเจรจาลดภาษีลง ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ การนำสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อเข้าบรรจุในแต่ละประเภทนั้น
กำหนดขึ้นบนพื้นฐานจากอะไร มาจากพื้นฐานวิธีการศึกษาอย่างไร
ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินว่าสินค้าใดควรจะอยู่ในประเภทสินค้าประเภทหรือกลุ่มใด
เพราะอะไร จึงเห็นได้ว่าการจะกำหนดประเภทสินค้าเข้าสู่แต่ละประเภทสินค้า ในการเจรจาทำข้อตกลงเอฟทีเอนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่อาจตัดสินใจกันได้ง่าย
ๆ โดยปราศจากการศึกษาวิเคราะห์วิจัยกันอย่างรอบด้าน
ทั้งตลาดในประเทศและโดยเฉพาะกับตลาดของประเทศคู่เจรจา
ยิ่งไปกว่านั้นในประเด็นวิธีการศึกษาเองก็มีปัญหาข้อถกเถียงที่ใช่จะหาข้อยุติได้ง่าย ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์
โดยเฉพาะแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเลือกมาใช้
ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้าประกอบกับประเทศคู่เจรจา
เช่นเดียวกันกับปัญหาความชอบธรรมในทางการเมืองในเรื่องอำนาจการตัดสินใจที่สุดท้ายแล้วใครควรมีบทบาทกันอย่างไร ในการกำหนดประเภทสินค้าในแต่ละบัญชีสินค้าที่จะนำไปสู่การลดภาษี ดูอย่างกรณีผลิตภัณฑ์นมและโคเนื้อ
ในข้อตกลงระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ที่อยู่ในบัญชีการลดภาษีในประเภทที่ว่า
ประเทศไทยแข่งขันเขาได้ โดยมีระยะเวลาปรับตัว
หรือกรณีผักผลไม้ ในข้อตกลงระหว่างไทย-จีน
ที่ปรับลดลงทันทีซึ่งอาจจะเข้าอยู่ในประเภทที่ไทยแข่งขันกับเขาได้ทันทีโดยไม่มีระยะเวลาปรับตัวเลย
ทั้งสองข้อตกลงนี้ยิ่งแสดงให้เห็นถึง ปัญหาและความรู้ในการตัดสินใจในการจำแนกประเภทสินค้า ประกอบกับอำนาจในการตัดสินใจว่าได้ทำขึ้นบนฐานการตัดสินใจอย่างไร
ยิ่งการเจรจาที่ไม่มีความโปร่งใส อาศัยความรู้
และเป็นไปแบบ “ยื่นหมูยื่นแมว” ด้วยแล้ว ก็ยากที่จะหากฎเกณฑ์อะไรได้ ในการตัดสินใจที่รอบคอบ
บนฐานความรู้ ความเข้าใจจริง ๆ การหยิบยื่นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกันภายใน
ของผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้องกับการเจรจาจึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ไร้การตรวจสอบ และ ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
ในทางการเมือง
2.2 มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
หรือ NTB (non –Tariff barrier)
การเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ หาได้จำกัดเฉพาะข้อตกลงที่เกี่ยวกับการลดภาษีสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ทั้งนี้เพราะในประเด็นการเจรจาในกรอบข้อตกลงเอฟทีเอที่ได้ทำ
ๆ กันมานั้น ได้ครอบคลุมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
หรือ NTB (Non-tariff barrier) ซึ่งจะครอบคลุมกฎกติกาทางการค้าอีกหลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นอย่างมาก อาทิ กฎกติกาในการผลิต (Rule
of Origin) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับการผลิตสินค้า สัดส่วนในการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้า (Local
Content) มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม
มาตรการด้านแรงงาน มาตรการทางด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช
หรือ SPS (Sanitary and Phytosanitary Measures ) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า
มาตรฐานวิธีการผลิต ระเบียบในการตรวจสอบ
การออกใบรับรอง การขนส่ง
วิธีการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) กฎเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ และการปิดฉลากในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการค้า หรือ TBT
(Technical barriers to trade) ใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้านอกเหนือจากหลักการขององค์การการค้าโลก ก็จะต้องถูกยกเลิกให้หมดด้วยเช่นกัน
ในมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่มีความสำคัญและเป็นหัวใจสำคัญอีกประการของข้อตกลงเขตการค้าเสรี
ได้แก่ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual
Property Rights) ซึ่งครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของคนได้อย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ของคนเรา เช่น อาหาร
ยา ทรัพยากร การศึกษา การใช้อินเตอร์เน็ต
เป็นต้น กรอบข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นกรอบข้อตกลงที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการผลิตอาหาร
ยา ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรกร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอ GMOs (genetically modified
organism) ให้สามารถเข้าสู่การผลิต การทดลอง
ที่ปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่มีมาอยู่ก่อนให้หมดไป
เมื่อพิจารณาจากกรอบข้อตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญาที่ สหรัฐอเมริกาซึ่งทำกับประเทศต่าง ๆ ไปแล้วเช่น
ที่ทำกับ ประเทศสิงค์โปร ชิลี และบาห์เรน ซึ่งจะเป็นกรอบเดียวกันกับการเจรจาที่สหรัฐอเมริกานำมาใช้กับประเทศไทยนั้น มีลักษณะการให้ความคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าที่ข้อตกลงทางการค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือ
TRIPs (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ภายใต้องค์การการค้าโลกซึ่งเรียกข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอนี้ว่า “ทริปส์ผนวก” หรือ TRIPs
plus กล่าวคือ
(1)การขยายความคุ้มครองในสิทธิบัตร
(Patent)ด้วยวิธีการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต (Life
forms) ไม่ว่าพืช สัตว์ และจุลชีพ
(micro-organisms) ซึ่งจะเป็นแผนที่ทางเดิน (Road
map) ให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามายึดหัวหาดครอบครองโครงสร้างการผลิตอาหารได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ โดยอาศัยสิทธิผูกขาดที่กฎหมายก่อตั้งให้อำนาจ
การขยายความคุ้มครองสิทธิผูกขาดตามระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปีเป็น 25 ปี
และที่สำคัญประการต่อมาในข้อตกลงเอฟทีเอของสหรัฐอเมริกายังบังคับให้เข้าเป็น ภาคีในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร (Paten
Co-operation Treaty, 1970, PCT) ซึ่งจะทำให้การยื่นขอสิทธิบัตรยังต่างประเทศใด
ๆ จะมีผลคุ้มครองครอบคลุมไปยังประเทศอื่น
ๆ ที่เป็นภาคีอีกหลายประเทศ เช่น มีการยื่นขอสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ความคุ้มครองดังกล่าวจะครอบคลุมมาถึงราชอาณาจักรไทย
โดยไม่ต้องมายื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยอีกครั้ง
ซึ่งจะเป็นการสร้างและอำนวยประโยชน์ต่อษรรษัทข้ามชาติ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและสิทธิบัตรเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่ว่านี้ไปแล้ว
ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2547 โดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 224
เหมือนการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำกับประเทศต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย
และบาห์เรน
(2) บีบบังคับให้ประเทศคู่เจรจา เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
ค.ศ. 1991 หรือ UPOV
(the International Convention for the Protection of new Varieties of Plants,
1991) อันเป็นระบบคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชอีกระบบนอกเหนือจากระบบสิทธิบัตรที่ให้สิทธิผูกขาดในพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้เช่นเดียวกับระบบสิทธิบัตร
แต่มีวิธีการขอรับความคุ้มครองได้ง่ายกว่าระบบสิทธิบัตร อันจะเป็นแผนที่แนวทางอีกหนทางหนึ่ง
ในการเข้ามาผูกขาดตลาด และเข้าครอบงำโครงสร้างการผลิตอาหาร
และเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรในการใช้ เมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครองได้อีกทางหนึ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากวิธีการให้ขยายความคุ้มครองไปสู่ระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต
(3) การให้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบยาและผลิตภัณฑ์เคมี
(Data Exclusivity) โดยห้ามมิให้ใช้ข้อมูลผลการทดสอบ
(Test Data) ยา และผลิตภัณฑ์เคมี ไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณารับขึ้นทะเบียนยา หรือ
ผลิตภัณฑ์เคมี อันเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าบริษัทต้นตำรับเป็นเจ้าของข้อมูลผลการทดสอบ ข้อห้ามการใช้ข้อมูลทดสอบที่ว่านี้จะมีไปถึง
พนักงานเจ้าหน้าที่ ๆ มีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนยา
หรือผลิตภัณฑ์เคมี บริษัทหรือบุคคลอื่น ในการใช้ข้อมูลผลการทดสอบดังกล่าว
อันเป็นการจำกัดสิทธิของพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคล ที่จะอาศัยผลการทดสอบดังกล่าวมาใช้กับยา
หรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน ผลอันนี้ทำให้บริษัทที่ได้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบดังกล่าว และยังห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน
หรือคล้ายคลึงกันเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันขึ้นทะเบียนของบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลการทดสอบ และยังห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียน
ยา หรือผลิตภัณฑ์แล้วแต่กรณี โดยอาศัยผลข้อมูลจากบริษัทเจ้าของข้อมูล
เพื่อนำยาหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ออกจำหน่ายในท้องตลาดอีกด้วย
การทำข้อตกลงเอฟทีเอโดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับในข้อตกลงเพื่อการคุ้มครองข้อมูลการทดสอบทางยา
หรือ ผลิตภัณฑ์ทางเคมี
ก็เพื่อปิดประตูบริษัทยาในประเทศที่แม้จะได้วิจัยยาใหม่ได้สำเร็จ แต่ก็จะต้องมาติดขัดกับการใช้ข้อมูลการทดสอบ (Test
data) ที่ได้รับความคุ้มกันและผูกขาด
การจะนำยาที่ค้นคิดไปขึ้นทะเบียนก็ต้องทำการทดลองเอาเอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานมาจนกว่าจะได้ข้อมูลผลทดสอบทางยา
จึงเป็นการปิดประตูตายของผู้ผลิตยาภายในประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการให้ความคุ้มครองข้อมูลการทดสอบตามข้อตกลงเอฟทีเอจากสหรัฐอเมริกายังจะเป็นการ ปิดโอกาส ให้การบังคับใช้สิทธิ (Compulsory licence) อันเป็นมาตรการเดียวของรัฐที่จะใช้อำนาจภายใต้ประโยชน์สาธารณะ (Public
interested) เพื่อคัดคานกับการผูกขาดยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองไปแล้วจากระบบสิทธิบัตร
ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม สามารถทำได้ต่อไป
เพราะผลจากการให้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบ
ซึ่งหากรัฐจะบังคับใช้สิทธิผลิตยา ก็ต้องไปติดขัดในการขึ้นทะเบียนตำรับยาอันเนื่องจาก ข้อห้ามการใช้ข้อมูลผลการทดสอบอยู่ดี
ข้อจำกัดหรือข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง
รวมถึงบริษัทหรือบุคคลที่จะผลิตยาจากการบังคับใช้สิทธิดังกล่าวนี้ด้วย
ทำให้หลักเกณฑ์การบังคับใช้สิทธิเป็นหมัน และไม่เกิดผลในทางปฏิบัติในทางเป็นจริง
(4) ในกรอบข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอยังเข้าไปจำกัดอำนาจรัฐอีกหลายเรื่องตามมา
เช่น การจำกัดการบังคับใช้สิทธิ
(Compulsory licence) การห้ามมิให้เพิกถอนสิทธิบัตร
(Revocation) และ การห้ามนำเข้าซ้อน (Parallel
Import) ซึ่งในแต่ละมาตรการดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาด ทำให้ยามีราคาแพง
เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดความเดือดร้อนมาสู่สังคม เป็นข้อจำกัดอำนาจรัฐที่จะถูกนำมาบังคับใช้ภายใต้กรอบที่คับแคบและจำกัด
กล่าวคือ จะให้บังคับการใช้สิทธิต่อเมื่อ
เพื่อป้องกันการกระทำที่นำไปสู่การจำกัดการแข่งขัน ซึ่งต้องถูกตัดสินตามกฎหมายป้องกันการแข่งขันของประเทศเจ้าของสิทธิ
(สหรัฐ) และ ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ที่ไม่ใช่การค้าเชิงพาณิชย์
หรือในกรณีฉุกเฉินของชาติ ที่มีจำเป็นเร่งด่วนโดยจะต้องให้เจ้าของสิทธิสามารถโต้แย้งคัดค้านต่อศาลได้
สำหรับกรณีการนำเข้าซ้อนเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะซื้อยาประเภทและชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกลง
ก็ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นข้อห้ามที่ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
(5) ในกรอบข้อตกลงเอฟทีเอของสหรัฐในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์
(Copyrights) ยังบังคับให้ประเทศคู่เจรจายอมรับและเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตอล การใช้อินเตอร์เน็ท สัญญาณดาวเทียมในอีก 3 ข้อตกลงคือ WIPO Copyright Treaty, 1966, WIPO
Performances and Phonograms Treaty, 1966 และ Convention
Relating to the Distribution of Program-Carrying Signals Transmitted by
Satellite, 1974 โดยขยายอายุความคุ้มครองในลิขสิทธิ์เป็นเวลา
70 ปีนับจากวันที่เจ้าของผู้สร้างสรรค์งานถึงแก่ความตาย
บังคับให้ประเทศคู่เจรจาต้องป้องกันการถอดรหัสสัญญาณดาวเทียมจากอุปกรณ์ที่ใช้ถอดรหัส
การให้ความคุ้มครองจากการทำซ้ำชั่วคราว (Temporary
reproduction) ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์
การบังคับให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท (Internet
service providers) ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายของตน และยอมให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจสอบการใช้และการทำซ้ำจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีในศาล
และที่ไปไกลกว่านั้นคือ การกำหนดให้ความผิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็น
อาญาแผ่นดิน ที่ทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ทันที
โดยไม่จำต้องมีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษก่อน
อันจะเป็นการนำและใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของเอกชน
และขนาดมีความพยายามจากรัฐมนตรีไทยบางคนที่ จะให้กำหนดความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปเป็นลักษณะความผิด เพิ่มเติมในความผิดมูลฐานตาม
กฎหมายการฟอกเงินอีกด้วย การบริหารยุทธ์ศาสตร์นโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
(ไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่) นับได้ว่าไปไกลเกินกว่าที่จะได้ล่วงรู้ถึงอุปสรรค์
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ว่าจะกว้างใหญ่ไพศาลลุ่มลึก ขนาดไหนหากจะต้องปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาตามที่ สหรัฐอเมริกาเสนอและยังนำไปเป็นโทษอาญาแผ่นดิน
และเป็นความผิดมูลฐานตาม กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น