ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการดำเนินชีวิต
ศาสนาเป็นสิ่งที่มีมาช้านาน ในระยะแรกศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อขจัดความหวาดกลัวสิ่งต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวของมนุษย์ คิดว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของผู้มีฤทธิ์มากกว่าตน เมื่อมนุษย์เริ่มเรียนรู้ธรรมชาติมากขึ้นและเกิดเป็นศาสนาที่มีเหตุผลเข้ามาเป็นแบบแผนและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ความเชื่อศรัทธาในกิจกรรมหรือพิธีกรรมต่างๆ ของแต่ละศาสนาก็กลายมาเป็นประเพณี วัฒนธรรมที่ทำสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนานศาสนาทุกศาสนา จะเป็นที่พึ่งทางใจของมนุษย์ มีหลักธรรมคำสั่งสอนที่มุ่งหมายสั่งสอนให้คนที่เป็นสมาชิกในสังคมเป็นคนดี มีคุณธรรมมีเหตุผลและศรัทธาในความถูกต้อง มีพิธีกรรมและเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นศาสนานั้นๆ บุคคลไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ บทบาทใดจะต้องยึดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะธรรมหรือหลักคำสอนจะช่วยแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้ อีกทั้งจะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
สำหรับคนไทยแล้ว ศาสนาเป็นสถาบันสำคัญของสังคมไทยโดยยอมรับศาสนาพุทธ เป็นศาสนาสำคัญประจำชาติและเปิดโอกาสให้บุคคลนับถือศาสนาต่างๆได้โดยอิสระ ยอมให้ศาสนาสำคัญทั้งปวงตั้งอยู่ในประเทศไทยได้ เช่นศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ อินดู เป็นต้น แต่ศาสนาพุทธเป็นจุดรวมจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ จึงได้ยึดหลักธรรมมาเป็นพื้นฐานของชีวิตเพื่อที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศด้วย นอกจากศาสนาพุทธแล้ว ยังนำสิ่งที่มีคุณค่าของศาสนาอื่นมาผสมผสานกับหลักของศาสนาพุทธด้วย เช่น พิธีกรรมของพราหมณ์ในการตั้งศาลพระภูมิ การขึ้นบ้านใหม่ การเข้าร่วมทำกิจกรรมกับศาสนาอื่น โดยไม่ถือว่าเป็นการเสื่อมเสียหรือเป็นบาป ยอมรับการแต่งงานกับคนต่างศาสนาได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันของครอบครัว และยังให้การคุ้มครองป้องกันศาสนาและลัทธิความเชื่อทั้งหลายที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
หลักธรรมกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจและอารมณ์ สามารถจูงใจและผูกใจคนไว้ได้อย่างแน่นแฟ้น มนุษย์จะนำศาสนาที่คนนับถือติดตัวไปปฏิบัติหรือเผยแพร่ในที่ใหม่ ศาสนาไม่ใช่ของที่อยู่กับที่แต่จะอยู่ตรงที่หนึ่งที่ใดก็ต่อเมื่อมนุษย์ยังไม่อพยพไปไหน บุคคลที่เกิดมาในศาสนาใดก็จะนับถือศาสนานั้น และมีความประพฤติคล้ายกับบุคคลที่นับถือศาสนานั้นๆ เช่น เด็กฝรั่งที่ถูกเลี้ยงแบบไทยและให้นับถือศาสนาพุทธ ก็จะมีพฤติกรรมและความคิดอ่านไปในแบบไทยๆ เป็นต้น ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคม โดยเฉพาะหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตซึ่งทุกศาสนามีความสอดคล้องกัน โดยการยึดมั่นในการทำความดี ความสอดคล้องกันของหลักธรรมของแต่ละศาสนาทำให้บุคคลเข้าใจกัน อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข หลักธรรมที่ศาสนิกชนสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
1. การทำความดี ละเว้นความชั่ว แนวทางการปฏิบัติของแต่ละศาสนาแตกต่างกันแต่ทุกศาสนาก็สอนให้ทำความดีและละเว้นความชั่วทั้งนั้น เช่น ศีล5 ของศาสนาพุทธ บัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์และหลักศรัทธา 6 ประการกับหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
2. การพัฒนาตนเองและการพึ่งตนเอง ศาสนาต่างๆ สอนให้คนพึ่งตนเองและพัฒนาตนเองเพื่อให้อยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่มีพุทธศาสนาสุภาษิต ว่า “อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” หมายถึง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ศาสนาพราหมณ์มีหลักอาศรม 4 ในข้อพรหมจารี ที่ให้นักศึกษาเล่าเรียนและในข้อคฤหัสถ์ที่ให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง ศาสนาอิสลามสอนให้คนใฝ่หาความรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย
3. ความยุติธรรม ความเสมอภาพและเสรีภาพ คำสอนของศาสนาจะเน้นในเรื่องเหล่านี้เพราะทุกเรื่องจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างันติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาติตระกูลไม่ได้เป็นเครื่องกำหนดความแตกต่างของบุคคล คนที่เกิดมาเท่าเทียมกันทั้งนั้นและสอนให้ทุกคนอยู่ภายใต้อคติ 4 คือ ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ ศาสนาอิสลามก็สอนให้ดำรงความยุติธรรมอย่าถือตามอารมณ์ใคร่ในการรักษาความยุติธรรมแม้บางครั้งจะกระเทือนต่อตนเอง บิดามารดาหรือญาติบ้างก็ตาม
4. การเสียสละหรือการสังคมสงเคราะห์ศาสนาต่างๆ สอนให้มีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วยความเมตตากรุณาไม่ใช่หวังผลตอบแทน เช่นพุทธศาสนามีหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา ศาสนาอิสลามมีการบริจาคซากาต แก่ผู้ขัดสน ศาสนาคริสต์ก็จะเน้นให้มนุษย์เสียสละให้อภัย เอื้อเฟื้อเป็นต้น
5. ความอุตสาหะและความพยายาม ทุกศาสนาสอนให้คนมีความอุตสาหะ มีความเพียร ความอดทนและมีความพยายามอันจะช่วยให้บุคคลประสบความสำเร็จพร้อมทั้งพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ศาสนาพุทธมีคติเตือนใจว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น หรือหลักคำสอนอิทธิบาท 4 ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ศาสนาอิสลามมีการละหมาดวันละ 5 ครั้งจึงถือว่าเป็นความพยายามที่จะขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์
6. ความรักความเมตตา คำสอนทุกสาสนาจะเน้นเรื่องความรักความเมตตา เพราะการที่คนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันตินั้น ความรักความเมตตาเป็นสื่อสำคัญอีกทั้งยังเป็นจริยธรรมของศาสนาคริสต์ ในพุทธศาสนาก็มีพุทธศาสนสุภาษิตว่า เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก
7. ความมีคุณธรรมอดทน อดกลั้น เกือบทุกศาสนา มีบทบัญญัติและข้อปฏิบัติในเรื่องนี้เหมือนกัน เช่น ศีลของศาสนาพุทธ บัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์ การถือศีลอดของศาสนาอิสลาม ทุกข้อปฏิบัติคือการให้คนมีคุณธรรม อดทนและอดกลั้น
8. การยกย่องเคารพบิดามารดาถือเป็นหลักสำคัญของศาสนาต่างๆ ว่าบุพการีเป็นสิ่งควรยกย่องในศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่าบิดา มารดาเป็นพระพรหมของลูก ศาสนาคริสต์มิใช่ในบัญญัติ 10 ประการ ข้อที่ 4 ว่า จงนับถือบิดา มารดาเป็นต้น
9. การไม่แบ่งชั้นวรรณะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า กำเนิดชาติตระกูลมิได้ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์เป็นกษัตริย์ เป็นพ่อค่า ความประพฤติของบุคคลเป็นเครื่องกำหนดบุคคล ทุกคนเท่าเทียมกัน ศาสนาอิสลามถือเป็นหลักสำคัญว่า หลักศรัทธาและหลักบัญญัติต้องอยู่ในเงื่อนไขการไม่แบ่งชั้นวรรณะอย่างชัดเจน
10.ไม่เสพสุรา ไม่เล่นการพนัน ไม่พูดจาขยายความ เป็นพื้นฐานของทุกศาสนาที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นสิ่งไม่ควรทำ เช่น ศีลในศาสนาพุทธ บัญญัติ 10 ประการในศาสนาคริสต์หลักบัญญัติในศาสนาอิสลามเป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น