1.หลักการพึ่งตนเอง
ความเข้าใจในความหมายของหลักการพึ่งตนเองของคนทั่วไป
จะอยู่ที่ความสามรถในการพึ่งตนเอง
ได้ทุกระดับ เพื่อมิให้ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่นหรือหมู่ขณะ
แต่หากพิจารณาในความหมายสูงสุดของพุทธธรรม
หลักการพึ่งตนเองมีความหมายเฉพาะถึงความสามารถในการพัฒนาสติปัญญาด้วยตนเอง
ด้วยการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างแยบคาย
เห็นความเป็นจริงของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
ความหมายเหล่านี้เมื่อนำมาประยุกต์
ใช้อธิบายในทางเศรษฐศาสตร์หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ย่อมหมายถึงการเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคเป็น
หลัก
ซึ่งมีความหมายที่ต้องข้ามกับหลักการแบ่งงานกันทำของ อดัม สมิธ
ที่มุ่งทำงานตามความชำนาญ แล้ว
เอาผลผลิตมาแลกเปลี่ยนกัน
ทุกฝ่ายก็จะได้ผลผลิตตามที่ตนเองต้องการและมีปริมาณมากกว่าที่ทุกคน
พยายามจะผลิตทุกสิ่งทุกอย่างเอง
เรียกว่าการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
2.ความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท
เป็นหลักธรรมเพื่อเตรียมความพร้อมของปัจเจกชนหรือสังคมให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เนื่องจากความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต
โดยมุ่งให้บรรลุประโยชน์ด้วยการไม่เพิกเฉย เอาใจใส่ กระตือรือร้นขวนขวาย
แก้ไขปรับปรุงส่วนที่แก้ไขได้
หลักการนี้สามารถนำมาประยุกต์กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง
โดยอธิบายว่าสิ่งใดก็ตามที่มีความเสี่ยงสูงผลตอบแทนที่ได้ก็จะสูงตามไปด้วย
ในขณะเดียวกันความสูญเสียก็เกิดขึ้นสูงเช่นกัน
ซึ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายเรื่องนี้ว่า
เป็นความพึงพอใจหรืออุปนิสัยตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล
แต่พุทธเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่าเป็นความโลภ
โดยที่ความโลภเป็นสาเหตุของความประมาทผู้ที่จงใจเลือกที่จะเสี่ยง ส่งผลให้เกิดความประมาทและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจส่วนตัว
ครอบครัว ตลอดจนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ
3.อหิงสธรรม
อหิงสธรรม
คือธรรมที่โน้มน้าวใจในทางเมตตากรุณา
นั้นคือทำให้พ้นไปจากวิหิงสาคือการข่มเหงเบียดเบียนและความรุนแรง
จึงจะต้องใช้ควบคู่ไปกับขันติธรรม หรือความอดกลั้นที่มีต่อสิ่งยั่วยุ
ที่จะทำให้เกิดโทสะความโกรธและโมหะหรือความหลง
ซึ่งเป็นปรปักษ์กับสติหรือความยั้งคิด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปัญญาทำงานไม่ได้
4.สัมมาอาชีวะ
การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยหลักสัมมาอาชีวะ ย่อมหมายความรวมถึงผลที่เกิดขึ้นในทาง ที่เกื้อกูลต่อมนุษย์และสังคม
ด้วยเหตุนี้การดำรงเลี้ยงชีวิตด้วยการผลิตและการค้าอาวุธ
หรือแม้แต่สารเคมีที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลง สารเสพติดให้โทษ
สารที่สร้างความมึนเมาที่ทำให้ขาดสติและความยั้งคิด
ย่อมถือว่าไม่เป็นไปตามหลักสัมมาอาชีวะ
หรือการกรณีของการผลิตขนาดใหญ่ด้วยระบบสายพานที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นคนงาน
และคนงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากต้องทำงานในสภาวะที่บีบขั้น วุ่นวาย
เร่งรีบ จึงเป็นเรื่องที่ขาดต่อหลักสัมมาอาชีวะ
5.การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นนั้น
ถือเป็นหัวใจสำคัญของพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อมุ่งสู่ความร่มเย็นทั้งของปัจเจกชนและสังคม
ในทางตรงกันข้ามในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
เพ่งเล็งไปที่ผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งและมีจุดเน้นอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจสูงสุด
ด้วยการผลิตให้ได้มากที่สุดต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและผลกำไรสูงที่สุดตลอดกาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมมีฝ่ายหนึ่งได้อีกฝ่ายหนึ่งเสียในลักษณะที่สุดโต่ง
แต่หากเปลี่ยนจุดเน้นจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักมาเน้นการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
การแบ่งส่วนผลประโยชน์ในลักษณะที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ก็เป็นไปได้
และกลับเป็นจุดสมดุลหรือจุดที่ดีที่สุดของสังคม เพราะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์
สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
สามารถนำไปสู่ความสุขสงบหรือศานติสุขอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด
6.การละกิเลสและความโลภ
กิเลส มีฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ "อวิชชา" หรือความไม่รู้
เมื่อมนุษย์มีความไม่รู้หรือความหลงผิด ย่อมปล่อยให้ชีวิตเดินไปตามสัญชาติญาณ
ซึ่งแม้สัญชาติญาณจะมีข้อดีช่วยช่วยให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดแต่การมีชีวิตอยู่รอดโดยไม่พัฒนาสติปัญญาให้ก้าวหน้าจนไปพ้นสัญชาติญาณ
มนุษย์ก็จะไม่แตกต่างไปจากสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรืออาจเร็วร้ายกว่า
เนื่องจากมนุษย์ถูกกิเลสและความโลภครอบงำได้ง่ายกว่าสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
การปลดจากครอบงำโดยกิเลสและความโลภจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าในรูปแบบใด ในที่สุดจะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์และสังคมแทนที่จะเป็นโทษและสร้างปัญหาให้กับมนุษย์และสังคมในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น