นาฬิกา

เซี่ยมซีหลวงพ่อพระชีว์

สรุปตลาดหุ้น

ตารางฟุตบอล

สร้างรายได้เพียงง่ายๆ

Subscribe in a reader Google AdSense คือบริการจาก Google ที่ให้ผู้ที่มีเว็บไซต์ สามารถหารายได้โดยการนำ Code ที่ได้จากการสมัครเป็นสมาชิกของ Google มาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ของตนเอง ซึ่ง Code นั้นจะเป็น โฆษณาที่ส่งมาจาก Google โดยโฆษณานั้น ๆ จะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ของคุณ ตัวอย่างเช่นถ้าเว็บไซต์ของคุณเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โฆษณาที่ส่งมาจาก Google ก็อาจเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม,สายการบิน เป็นต้น

ข้อความ

ข้อความ

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

ภาพรวมของเอฟทีเอ “อำนาจ” และ “กระบวนการใช้อำนาจ”


3. ภาพรวมของเอฟทีเอ อำนาจและ กระบวนการใช้อำนาจ”  
(1). ขอบเขตและนัย ของข้อผูกพัน
      ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ มีสถานะเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ ต่อ รัฐ มีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งมี รัฐ (State)” ประเทศไทย และ รัฐคู่ภาคีเป็นบุคคลตามกฎหมาย (Legal personality) ข้อตกลงมีผลผูกพันในทางกฎหมาย(Legal binding)  เมื่อได้มีการลงนามเซ็นสัญญากันไปแล้ว จะเกิดข้อผูกพันระหว่างประเทศ (International obligations) ต่อรัฐที่ลงนามโดยการนำไปกำหนดเป็นหลักการทางกฎหมายภายใน (Domestic law) ทั้งนี้โดยการกำหนดนโยบายและกฎหมายภายในที่ว่านี้ จะต้องทำให้สอดคล้อง (Compliance) กับข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ ตามเงื่อนไข หลักการ หรือ กรอบระยะเวลาที่กำกับไว้ในข้อตกลง ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญทาง กฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดถือปฏิบัติ (State practice) กันในระหว่างประเทศที่ว่า เมื่อได้ลงนามทำข้อตกลงสัญญาไว้อย่างไร คู่สัญญาจะต้องให้ความเคารพยึดถือปฏิบัติตามต่อข้อตกลงที่ได้ทำไว้นั้น (pacta sunt servanda)     ด้วยเหตุนี้ข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงผูกมัดและสร้างความสัมพันธ์ต่อองค์กรทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ  ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ (สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา) และ อำนาจตุลาการ   กล่าวคือทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภามีความผูกพันในการตรากฎหมาย ให้จำกัดอยู่ในกรอบของข้อตกลง  เพียงเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้   ขณะที่ตุลาการก็มีความผูกพันในการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี ตามกฎหมายที่จะตราขึ้นตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเช่นกัน  แต่โดยมากแล้ว ระบบระงับข้อพิพาทในความตกลงประเภทนี้  จะมีกระบวนการระงับข้อพิพาทพิเศษต่างหากออกไป  ด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือมีคณะที่จะมาระงับข้อพิพาทเองต่างหาก  ด้วยวิธีพิจารณาที่เป็นอิสระจากองค์กรตุลาการที่มีอยู่ภายในประเทศ    จึงจะเห็นได้ว่า ฐานะของข้อตกลงเอฟทีเอนั้นครอบคลุมและสร้างความเอกเทศในกฎข้อตกลงที่ประกอบเป็นข้อตกลงทั้งหมด ทั้งยังรวมถึง แนวทางวิธีการตีความในข้อตกลง หลักกฎหมายที่ใช้ในการตีความ  ซึ่งจะเป็นกรอบในการตรากฎหมายภายใน  ขณะเดียวกันก็มีองค์กรที่เป็นศาลพิเศษที่จะชำระความได้เอง  โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจศาลของรัฐใดรัฐหนึ่งที่ได้ทำข้อตกลงกัน 
      สำหรับกรณีประเทศคู่เจรจาทำข้อตกลง  ที่มีระบบการเมืองการปกครองที่แตกต่างกัน  เช่น อยู่ในรูปแบบสหพันธ์รัฐ (Federal states)     เป็นแคว้นหรือมณฑลยิ่งกลับทำให้เกิดปัญหาในเขตอำนาจทางกฎหมาย (Jurisdiction) มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขอบเขตของข้อผูกพันระหว่างประเทศ (International obligations) นั้นจะครอบคลุม ประเทศทั้งหมดซึ่งรวมถึงมลรัฐ หรือมณฑลต่าง ๆ ภายในรัฐนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด เพราะมลรัฐ แคว้นหรือมณฑลบางที่สามารถออกกฎหมายขึ้นมาใช้กำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้า หรือ ภาษีได้เอง มีกระบวนการบังคับใช้และวินิจฉัยชี้ขาดเอง เป็นต้น    ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่การทำข้อตกลงเอฟทีเอของไทยเผชิญอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่ทำกับประเทศจีน  ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาล่วงหน้าเสียก่อนทำให้  เกิดปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาด เพราะติดปัญหาเรื่องเขตอำนาจทางกฎหมายที่ผู้มีอำนาจสูงสุดในมณฑล  ปฏิเสธข้อผูกพันที่รัฐบาลกลางได้เซ็นสัญญาลงนามไว้ โดยอ้างว่าไม่มีผลผูกพันกับมณฑล   
      ฉะนั้นปัญหาเรื่อง ขอบเขตของการบังคับให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงเอฟทีเอในทางกฎหมายจะมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใดหลังจากได้ลงนามไปแล้ว มีเรื่องใดบ้างที่ยังคงถือเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐ       และ ต่อกรณีทีเป็นรัฐที่มีการปกครองแบบมลรัฐ หรือ มณฑล แล้วแต่กรณีนั้น จะมีความผูกพันในข้อตกลงเอฟทีเอในขอบเขตเพียงใด เป็นปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจตามกฎหมาย ที่สลับซับซ้อนซ่อนอยู่ภายในข้อตกลงที่ไม่อาจจะมองข้ามได้    หากต้องการให้ข้อตกลงมีผลใช้บังคับ  
(2). ภาษี (Tariff) และ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-Tariff barrier, NTB)
      2.1 มาตรการทางภาษี  
      การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ การลดลงของภาษีในสินค้ามักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่าเป็นผลสำเร็จ และ ให้เหตุผลว่าการทำข้อตกลงเขตการค้าหรือ เอฟทีเอ นั้นดี มีประโยชน์ต่อการส่งออกอย่างไร เมื่อภาษีสินค้าที่จะเข้าสู่ตลาดของประเทศคู่เจรจาลดลงเหลือ ศูนย์เปอร์เซ็นต์   การอธิบายโดยหยิบยกเอาการลดลงของภาษีที่ลดลงและคาดการณ์ว่าจะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นนั้น ยังมีการยกเอาจำนวนประชากรของประเทศคู่เจรจามาคำนวณคาดคะเนถึง ระดับหรือขนาดของตลาด เช่น มีการฝันหวานคาดคะเนและใช้สมมุติฐานที่ว่า หากคนจีนรับประทานทุเรียน หรือ มังคุดกันคนละกิโล  ขนาดของตลาดสินค้าผลไม้ทั้งสองประเภทนี้จะกว้างใหญ่ไฟศาลขนาดไหนซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  หากการตัดสินใจทำข้อตกลงเอฟทีเออยู่บนฐานของตัวเลขการขึ้นลงของภาษี ประกอบกับจำนวนประชากรของประเทศคู่เจรจา  อย่างที่ใช้อธิบายกรณีการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีนนั้น   อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลและคำอธิบายจากฐานคิดเช่นนี้ น่าจะบกพร่องไม่ถูกต้องเป็นจริงอย่างที่ได้ตั้งสมมุติฐานเอาไว้เลย และไม่น่าจะนำมาประกอบการตัดสินใจในทางนโยบายได้เลยทั้งนี้ เพราะการเข้าสู่ตลาดสินค้าของจีน ผู้ส่งออกผักผลไม้ไทยยังต้องเผชิญกับการบังคับให้ต้องจ่ายค่าภาษีอื่น ๆ ในการจำหน่ายสินค้าอีกหลายระบบ  ขณะเดียวกันกับการกระจายสินค้าในจีนกลับถูกจำกัดเฉพาะคนสัญชาติจีนพร้อม ๆ กับการถูกตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อหาสารเคมีตกค้าง  จนทำให้สินค้าที่ส่งไปจากประเทศไทยเน่าเสียหายก่อนที่จะถูกนำไปขาย   ตัวอย่างในกรณีของจีนซึ่งไม่มีการศึกษามาก่อนจึงเข้าลักษณะ ทำไปแก้ไป”   เหตุผลการตัดสินใจทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีนจึงไม่สัมพันธ์กับข้ออ้างหรือสมมุติฐานที่วาดฝันไว้   จึงมีข้อกังขามาก ถึงความรอบคอบในการตัดสินใจว่าได้มีการศึกษาวิจัยดีพอแล้วหรือยังก่อนที่จะเข้าเจรจาทำข้อตกลงกับประเทศต่าง 
      ถึงกระนั้นก็ตาม  กรณีการยกเลิกภาษี  (Eliminate the tariff)  หรือ การลดภาษีศุลกากรนำเข้าให้ลดลงเหลือ ศูนย์เปอร์เซ็นต์  ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมในการดำเนินนโยบายอีกด้วย  กล่าวคือ ในทางความเป็นจริง ตัวภาษีหาได้แสดงถึงตัวเลขการขึ้นลงแต่อย่างเดียวไม่   แต่ภาษียังสะท้อนถึงนโยบายและความเป็นธรรมที่รัฐสามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้โดยเฉพาะการนำนโยบายภาษีมาใช้กับการจัดการเศรษฐกิจเพื่อสังคม (Socio-economic)   ที่รัฐสามารถใช้เพื่อบรรลุถึงนโยบายที่จะพัฒนาส่งเสริมการผลิตท้องถิ่น  หรือการสนับสนุนและใช้มาตรการทางภาษีมาประยุกต์ใช้กับ นโยบายทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง    ผลในทางตรงข้าม หากมีการลดภาษีหรือยกเลิกภาษีที่ทำให้สินค้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้าสู่ตลาด อันจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่นอยู่แต่เดิมต้องได้รับความเสียหายจากความสามารถที่ไม่อาจแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศได้   ตัวอย่างที่สามารถอธิบายในกรณีนี้ได้ดี  จะเห็นได้จากข้อตกลงเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศออสเตรเลีย TAFTA (Thai-Australia Free Trade Agreement)   ที่ลดภาษีสินค้าประเภทนม และโคเนื้อลงเหลือเท่ากับศูนย์    ย่อมจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเป็นล้านครอบครัว  ถึงต้องสูญเสียอาชีพเพราะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศออสเตรเลียได้   จึงแสดงให้เห็นว่า นัยยะภาษีนั้นมีความเชื่อมโยง  สัมพันธ์ที่กว้างขวางกว่าการขึ้นลงของตัวเลข    ตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้สามารถอธิบายได้อีกจากสินค้า ผักสดและผลไม้จากประเทศจีนที่ตีตลาดไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนทำให้เกษตรกรที่ทำการผลิตผักผลไม้ทางภาคเหนือขายผลผลิตของตนสู้กับสินค้าชนิดเดียวกันกับประเทศจีนไม่ได้   ถึงขนาดต้องถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนอาชีพที่ได้ทำมากว่าร้อย ๆ ปีไปอย่างง่ายๆ   เพราะผลจากการลดภาษีจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศจีน  จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการลดภาษีว่ามีส่วนสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยอย่างไร    โดยพวกเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสรับรู้มาก่อนล่วงหน้า  
        ในกรณีการลดภาษีสินค้า  ยังมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญที่น่าจะพิจารณาต่อไปได้อีกในกรณีการจัดจำแนกประเภทสินค้า ทั้งนี้เพราะการเจรจาทำข้อตกลงเอฟทีเอจะมีการแบ่งประเภทสินค้าเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น 1) Sensitive สินค้าอ่อนไหว, 2) Normal สินค้าที่ลดภาษีกันตามปกติอันเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้ แต่อาจต้องใช้เวลาปรับตัว, 3) Reciprocal   สินค้าที่ลดภาษีพร้อมกัน 2 ฝ่ายซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้          4) Unilateral สินค้าที่ไทยพร้อมลดภาษีฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยแข่งขันได้       และ 5) Early Harvest สินค้าที่ไม่มีปัญหาสามารถตกลงกันได้ก่อน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นสินค้าที่ถูกจัดใส่เข้าสู่บัญชีประเภทสินค้าแต่ละประเภท   ๆ เพื่อนำไปสู่การเจรจาลดภาษีลง  ปัญหาที่น่าพิจารณาคือ การนำสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อเข้าบรรจุในแต่ละประเภทนั้น   กำหนดขึ้นบนพื้นฐานจากอะไร มาจากพื้นฐานวิธีการศึกษาอย่างไร  ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินว่าสินค้าใดควรจะอยู่ในประเภทสินค้าประเภทหรือกลุ่มใด  เพราะอะไร  จึงเห็นได้ว่าการจะกำหนดประเภทสินค้าเข้าสู่แต่ละประเภทสินค้า ในการเจรจาทำข้อตกลงเอฟทีเอนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่อาจตัดสินใจกันได้ง่าย ๆ โดยปราศจากการศึกษาวิเคราะห์วิจัยกันอย่างรอบด้าน  ทั้งตลาดในประเทศและโดยเฉพาะกับตลาดของประเทศคู่เจรจา  ยิ่งไปกว่านั้นในประเด็นวิธีการศึกษาเองก็มีปัญหาข้อถกเถียงที่ใช่จะหาข้อยุติได้ง่าย   ในทางเศรษฐศาสตร์  โดยเฉพาะแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่จะเลือกมาใช้  ให้เหมาะสมกับประเภทสินค้าประกอบกับประเทศคู่เจรจา   เช่นเดียวกันกับปัญหาความชอบธรรมในทางการเมืองในเรื่องอำนาจการตัดสินใจที่สุดท้ายแล้วใครควรมีบทบาทกันอย่างไร ในการกำหนดประเภทสินค้าในแต่ละบัญชีสินค้าที่จะนำไปสู่การลดภาษี ดูอย่างกรณีผลิตภัณฑ์นมและโคเนื้อ ในข้อตกลงระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ที่อยู่ในบัญชีการลดภาษีในประเภทที่ว่า ประเทศไทยแข่งขันเขาได้ โดยมีระยะเวลาปรับตัว  หรือกรณีผักผลไม้ ในข้อตกลงระหว่างไทย-จีน  ที่ปรับลดลงทันทีซึ่งอาจจะเข้าอยู่ในประเภทที่ไทยแข่งขันกับเขาได้ทันทีโดยไม่มีระยะเวลาปรับตัวเลย  ทั้งสองข้อตกลงนี้ยิ่งแสดงให้เห็นถึง ปัญหาและความรู้ในการตัดสินใจในการจำแนกประเภทสินค้า ประกอบกับอำนาจในการตัดสินใจว่าได้ทำขึ้นบนฐานการตัดสินใจอย่างไร  ยิ่งการเจรจาที่ไม่มีความโปร่งใส  อาศัยความรู้ และเป็นไปแบบ ยื่นหมูยื่นแมวด้วยแล้ว ก็ยากที่จะหากฎเกณฑ์อะไรได้ ในการตัดสินใจที่รอบคอบ บนฐานความรู้ ความเข้าใจจริง ๆ   การหยิบยื่นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกันภายใน  ของผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้องกับการเจรจาจึงเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ไร้การตรวจสอบ และ ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ในทางการเมือง
   2.2 มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี  หรือ NTB (non –Tariff barrier) 
      การเจรจาทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ หาได้จำกัดเฉพาะข้อตกลงที่เกี่ยวกับการลดภาษีสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวไม่ ทั้งนี้เพราะในประเด็นการเจรจาในกรอบข้อตกลงเอฟทีเอที่ได้ทำ ๆ กันมานั้น ได้ครอบคลุมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTB (Non-tariff barrier) ซึ่งจะครอบคลุมกฎกติกาทางการค้าอีกหลายประการซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นอย่างมาก อาทิ กฎกติกาในการผลิต (Rule of Origin) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับการผลิตสินค้า สัดส่วนในการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้า (Local Content)  มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม  มาตรการด้านแรงงาน  มาตรการทางด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ SPS (Sanitary and Phytosanitary Measures )  ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้า  มาตรฐานวิธีการผลิต ระเบียบในการตรวจสอบ  การออกใบรับรอง  การขนส่ง วิธีการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)  กฎเกณฑ์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ และการปิดฉลากในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีมาตรการกีดกันทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการค้า หรือ TBT (Technical barriers to trade) ใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้านอกเหนือจากหลักการขององค์การการค้าโลก ก็จะต้องถูกยกเลิกให้หมดด้วยเช่นกัน
      ในมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่มีความสำคัญและเป็นหัวใจสำคัญอีกประการของข้อตกลงเขตการค้าเสรี  ได้แก่ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights) ซึ่งครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของคนได้อย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ของคนเรา เช่น อาหาร ยา ทรัพยากร การศึกษา การใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น กรอบข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา จึงเป็นกรอบข้อตกลงที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการผลิตอาหาร ยา ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลดปล่อยพืชจีเอ็มโอ GMOs (genetically modified organism) ให้สามารถเข้าสู่การผลิต การทดลอง  ที่ปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่มีมาอยู่ก่อนให้หมดไป   เมื่อพิจารณาจากกรอบข้อตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญาที่ สหรัฐอเมริกาซึ่งทำกับประเทศต่าง ๆ ไปแล้วเช่น ที่ทำกับ ประเทศสิงค์โปร ชิลี และบาห์เรน ซึ่งจะเป็นกรอบเดียวกันกับการเจรจาที่สหรัฐอเมริกานำมาใช้กับประเทศไทยนั้น มีลักษณะการให้ความคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าที่ข้อตกลงทางการค้าเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือ TRIPs (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ภายใต้องค์การการค้าโลกซึ่งเรียกข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอนี้ว่าทริปส์ผนวกหรือ TRIPs plus   กล่าวคือ
            (1)การขยายความคุ้มครองในสิทธิบัตร (Patent)ด้วยวิธีการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต (Life forms) ไม่ว่าพืช สัตว์ และจุลชีพ (micro-organisms) ซึ่งจะเป็นแผนที่ทางเดิน (Road map) ให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามายึดหัวหาดครอบครองโครงสร้างการผลิตอาหารได้อย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ โดยอาศัยสิทธิผูกขาดที่กฎหมายก่อตั้งให้อำนาจ  การขยายความคุ้มครองสิทธิผูกขาดตามระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปีเป็น 25 ปี   และที่สำคัญประการต่อมาในข้อตกลงเอฟทีเอของสหรัฐอเมริกายังบังคับให้เข้าเป็น ภาคีในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร (Paten Co-operation Treaty, 1970, PCT)  ซึ่งจะทำให้การยื่นขอสิทธิบัตรยังต่างประเทศใด ๆ จะมีผลคุ้มครองครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีอีกหลายประเทศ  เช่น มีการยื่นขอสิทธิบัตรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ความคุ้มครองดังกล่าวจะครอบคลุมมาถึงราชอาณาจักรไทย  โดยไม่ต้องมายื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทยอีกครั้ง   ซึ่งจะเป็นการสร้างและอำนวยประโยชน์ต่อษรรษัทข้ามชาติ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและสิทธิบัตรเป็นอย่างมาก   ที่สำคัญรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร  ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่ว่านี้ไปแล้ว  ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2547 โดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามเงื่อนไขแห่งรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 224  เหมือนการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอที่ทำกับประเทศต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย และบาห์เรน
            (2) บีบบังคับให้ประเทศคู่เจรจา เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ค.ศ. 1991 หรือ UPOV (the International Convention for the Protection of new Varieties of Plants, 1991) อันเป็นระบบคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชอีกระบบนอกเหนือจากระบบสิทธิบัตรที่ให้สิทธิผูกขาดในพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้เช่นเดียวกับระบบสิทธิบัตร   แต่มีวิธีการขอรับความคุ้มครองได้ง่ายกว่าระบบสิทธิบัตร อันจะเป็นแผนที่แนวทางอีกหนทางหนึ่ง ในการเข้ามาผูกขาดตลาด และเข้าครอบงำโครงสร้างการผลิตอาหาร และเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรในการใช้ เมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครองได้อีกทางหนึ่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากวิธีการให้ขยายความคุ้มครองไปสู่ระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต 
            (3) การให้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบยาและผลิตภัณฑ์เคมี (Data Exclusivity) โดยห้ามมิให้ใช้ข้อมูลผลการทดสอบ (Test Data) ยา และผลิตภัณฑ์เคมี ไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณารับขึ้นทะเบียนยา หรือ ผลิตภัณฑ์เคมี อันเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าบริษัทต้นตำรับเป็นเจ้าของข้อมูลผลการทดสอบ ข้อห้ามการใช้ข้อมูลทดสอบที่ว่านี้จะมีไปถึง  พนักงานเจ้าหน้าที่ ๆ มีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนยา หรือผลิตภัณฑ์เคมี บริษัทหรือบุคคลอื่น ในการใช้ข้อมูลผลการทดสอบดังกล่าว   อันเป็นการจำกัดสิทธิของพนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคล ที่จะอาศัยผลการทดสอบดังกล่าวมาใช้กับยา หรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน  ผลอันนี้ทำให้บริษัทที่ได้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบดังกล่าว และยังห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันขึ้นทะเบียนของบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อมูลการทดสอบ และยังห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียน ยา หรือผลิตภัณฑ์แล้วแต่กรณี โดยอาศัยผลข้อมูลจากบริษัทเจ้าของข้อมูล เพื่อนำยาหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ออกจำหน่ายในท้องตลาดอีกด้วย   การทำข้อตกลงเอฟทีเอโดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับในข้อตกลงเพื่อการคุ้มครองข้อมูลการทดสอบทางยา หรือ ผลิตภัณฑ์ทางเคมี   ก็เพื่อปิดประตูบริษัทยาในประเทศที่แม้จะได้วิจัยยาใหม่ได้สำเร็จ แต่ก็จะต้องมาติดขัดกับการใช้ข้อมูลการทดสอบ (Test data)  ที่ได้รับความคุ้มกันและผูกขาด  การจะนำยาที่ค้นคิดไปขึ้นทะเบียนก็ต้องทำการทดลองเอาเอง ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานมาจนกว่าจะได้ข้อมูลผลทดสอบทางยา  จึงเป็นการปิดประตูตายของผู้ผลิตยาภายในประเทศ   ยิ่งไปกว่านั้นมาตรการให้ความคุ้มครองข้อมูลการทดสอบตามข้อตกลงเอฟทีเอจากสหรัฐอเมริกายังจะเป็นการ ปิดโอกาส   ให้การบังคับใช้สิทธิ (Compulsory licence) อันเป็นมาตรการเดียวของรัฐที่จะใช้อำนาจภายใต้ประโยชน์สาธารณะ (Public interested)  เพื่อคัดคานกับการผูกขาดยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองไปแล้วจากระบบสิทธิบัตร  ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม  สามารถทำได้ต่อไป  เพราะผลจากการให้สิทธิผูกขาดในข้อมูลการทดสอบ  ซึ่งหากรัฐจะบังคับใช้สิทธิผลิตยา  ก็ต้องไปติดขัดในการขึ้นทะเบียนตำรับยาอันเนื่องจาก ข้อห้ามการใช้ข้อมูลผลการทดสอบอยู่ดี   ข้อจำกัดหรือข้อห้ามนี้ครอบคลุมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง  รวมถึงบริษัทหรือบุคคลที่จะผลิตยาจากการบังคับใช้สิทธิดังกล่าวนี้ด้วย  ทำให้หลักเกณฑ์การบังคับใช้สิทธิเป็นหมัน และไม่เกิดผลในทางปฏิบัติในทางเป็นจริง
            (4)  ในกรอบข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอยังเข้าไปจำกัดอำนาจรัฐอีกหลายเรื่องตามมา เช่น การจำกัดการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory licence) การห้ามมิให้เพิกถอนสิทธิบัตร (Revocation) และ การห้ามนำเข้าซ้อน (Parallel Import) ซึ่งในแต่ละมาตรการดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาด ทำให้ยามีราคาแพง เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เกิดความเดือดร้อนมาสู่สังคม เป็นข้อจำกัดอำนาจรัฐที่จะถูกนำมาบังคับใช้ภายใต้กรอบที่คับแคบและจำกัด กล่าวคือ จะให้บังคับการใช้สิทธิต่อเมื่อ เพื่อป้องกันการกระทำที่นำไปสู่การจำกัดการแข่งขัน ซึ่งต้องถูกตัดสินตามกฎหมายป้องกันการแข่งขันของประเทศเจ้าของสิทธิ (สหรัฐ) และ ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์ที่ไม่ใช่การค้าเชิงพาณิชย์ หรือในกรณีฉุกเฉินของชาติ ที่มีจำเป็นเร่งด่วนโดยจะต้องให้เจ้าของสิทธิสามารถโต้แย้งคัดค้านต่อศาลได้   สำหรับกรณีการนำเข้าซ้อนเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะซื้อยาประเภทและชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกลง  ก็ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นข้อห้ามที่ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
            (5) ในกรอบข้อตกลงเอฟทีเอของสหรัฐในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ (Copyrights) ยังบังคับให้ประเทศคู่เจรจายอมรับและเข้าเป็นภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตอล การใช้อินเตอร์เน็ท สัญญาณดาวเทียมในอีก 3 ข้อตกลงคือ WIPO Copyright Treaty, 1966, WIPO Performances and Phonograms Treaty, 1966 และ Convention Relating to the Distribution of Program-Carrying Signals Transmitted by Satellite, 1974  โดยขยายอายุความคุ้มครองในลิขสิทธิ์เป็นเวลา 70 ปีนับจากวันที่เจ้าของผู้สร้างสรรค์งานถึงแก่ความตาย   บังคับให้ประเทศคู่เจรจาต้องป้องกันการถอดรหัสสัญญาณดาวเทียมจากอุปกรณ์ที่ใช้ถอดรหัส  การให้ความคุ้มครองจากการทำซ้ำชั่วคราว (Temporary reproduction)  ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์   การบังคับให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท (Internet service providers)  ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายของตน และยอมให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตรวจสอบการใช้และการทำซ้ำจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ท เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีในศาล  และที่ไปไกลกว่านั้นคือ การกำหนดให้ความผิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็น อาญาแผ่นดิน  ที่ทำให้เจ้าพนักงานสอบสวนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ทันที  โดยไม่จำต้องมีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษก่อน   อันจะเป็นการนำและใช้ทรัพยากรของประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของเอกชน    และขนาดมีความพยายามจากรัฐมนตรีไทยบางคนที่ จะให้กำหนดความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปเป็นลักษณะความผิด เพิ่มเติมในความผิดมูลฐานตาม กฎหมายการฟอกเงินอีกด้วย   การบริหารยุทธ์ศาสตร์นโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่)  นับได้ว่าไปไกลเกินกว่าที่จะได้ล่วงรู้ถึงอุปสรรค์ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ว่าจะกว้างใหญ่ไพศาลลุ่มลึก ขนาดไหนหากจะต้องปฏิบัติตามกรอบข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาตามที่ สหรัฐอเมริกาเสนอและยังนำไปเป็นโทษอาญาแผ่นดิน และเป็นความผิดมูลฐานตาม กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน

ไม่มีความคิดเห็น: