พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ๒
วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ต้นฉบับโดย พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต)
เรียบเรียงโดย รศ. ดร. ปฐม - รศ.ภัทรา นิคมานนท์
โครงการหนังสือบูรพาจารย์อีสานใต้ เล่ม ๑
๒๗. ผจญภัยควายป่า
ในช่วงที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พำนักอยู่ที่ สำนักสงฆ์บ้านหนองเสม็ด นั้นเมื่อถึงฤดูกาลออกพรรษา หลวงปู่มักจะพาพระภิกษุสามเณร และฆราวาสผู้สนใจรวมเป็นคณะเล็กๆ ออกธุดงค์ลงทางทิศใต้ จังหวัดสุรินทร์เสมอๆ โดยเฉพาะตาม เทือกเขาพนมดงเร็ก ไปทาง เขาพระวิหาร และเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา
เทือกเขาพนมดงเร็ก หรือ ดงรัก นั้นเรียกตามภาษาเขมร ซึ่งเรียกตามรูปลักษณ์แห่งภูเขา ที่มองเห็นแต่ไกล มีลักษณะคล้าย ไม้คานที่ใช้หาบของ ซึ่งภาษาเขมรเรียกว่า “ดองแร็ก”
บริเวณตอนใต้ของจังหวัดสุรินทร์ แถบเทือกเขาดงเร็กในสมัยนั้น เป็นป่ารกชัฏในลักษณะป่าดงดิบ ต้นไม้ใหญ่ๆ ขนาด ๓ คนโอบขึ้นหนาทึบ สัตว์ป่ามีมากมาย สัตว์ร้าย เช่น ช้างป่า เสือ หมี ก็มีชุกชุม แต่ภาพเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว
แต่กล่าวสำหรับคนสุรินทร์ คนศรีสะเกษ และคนบุรีรัมย์ ที่มีอายุ ๖๐ ปีล่วงแล้ว ยังฝังใจกับสภาพป่าดงเหล่านั้นเป็นอย่างดี
การออกธุดงค์ของหลวงปู่ดูลย์ หลังออกพรรษาในปีนั้น ท่านได้พา สามเณรโชติ กับ สามเณรทอน ออกธุดงค์ไปตามเทือกเขาพนมดงเร็ก ไปทางเขาพระวิหาร เข้าเขต จอมกระสาน ในประเทศกัมพูชา
การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องฝ่าป่ารกชัฏ และมีสัตว์ร้ายชุกชุม
เวลากลางคืน แต่ละองค์ปักกลดให้ห่างกันพอสมควร ตามแบบฉบับของพระธุดงค์ ซึ่งหลวงปู่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สามเณรโชติ เมืองไทย ได้เล่าเหตุการณ์ผจญภัยของหลวงปู่คราวออกธุดงค์ครั้งนั้นในภายหลัง เมื่อท่านมีสมณศักดิ์ที่ พระเทพสุทธาจารย์ ดังนี้
ในคราวเดินทางตอนหนึ่ง หลวงปู่เดินนำหน้า ทิ้งสามเณรทั้งสองห่างออกไป สามเณรตามไม่ทัน
พลันควายป่าตัวหนึ่งตื่นเตลิดมาจากไหนไม่ทราบ วิ่งมาข้างหลัง สามเณรทั้งสองหลบเข้าข้างทาง ปีนหนีขึ้นต้นไม้อย่างว่องไว
ควายป่าตรงรี่ พุ่งเข้าขวิดหลวงปู่เต็มแรง จนหลวงปู่กระเด็นล้มลง แล้วมันก็ตรงเข้าขวิดฟัดฟาดซ้ำหลายตลบ ร่างหลวงปู่กลิ้งไปกลิ้งมาตามแรงของมันจนสาแก่ใจแล้ว ควายมันจึงเตลิดวิ่งหายไปในป่าทึบ
สามเณรทั้งสองตกใจมาก รีบลงจากต้นไม้มาประคองหลวงปู่ แต่ต้องตะลึงด้วยความมหัศจรรย์ เห็นจีวรท่านขาดกะรุ่งกะริ่งจนไม่มีชิ้นดี แต่ร่างกายท่านไม่เป็นอะไรเลย เพราะเขาควายขวิดถูกแต่ตามซอกแขนซอกขาของท่านเท่านั้น
ภายหลัง เมื่อญาติโยมเข้ากราบนมัสการเพื่อขอให้หลวงปู่ประพรมน้ำมนต์ และขอของขลังของวิเศษ หลวงปู่มักจะพูดแต่เพียงว่า "อาตมามิได้มีปาฏิหาริย์” และหลวงปู่ไม่เคยพูดถึงเรื่องปาฏิหาริย์ หรือใส่ใจในเรื่องเหล่านั้นเลยท่านเน้นแต่เรื่องการบริกรรมภาวนาเพื่อสร้างพลังจิต และสร้างความบริสุทธิ์ให้แก่ตนเอง
๒๘. เดินทางเข้ากรุงเทพฯ
หลังกลับจากธุดงค์ หลวงปู่ก็มาพำนักที่ เสนาสนะป่าบ้านหนองเสม็ด ตามเดิม มีบางครั้งก็ไปอยู่ที่ วัดปราสาท สถานที่เกิดของท่าน เพื่อโปรดญาติโยม ณ ที่นั้นบ้างตามสมควร
พอจวนจะเข้าพรรษาอีกครั้ง หลวงปู่ได้ดำริที่จะเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมขึ้นอีกบ้าง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนั้นได้พาสามเณรโชติไปด้วย
หลวงปู่ได้นำสามเณรโชติ ไปฝากให้อยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา แล้วท่านเองก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักจำพรรษาอยู่ที่ วัดสัมพันธวงศาวาส (วัดเกาะ)
แต่แรกเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่ตั้งใจจะเรียนพระปริยัติธรรม แต่ปรากฏว่าจิตใจของท่านโน้มเอียงไปทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากกว่า จิตใจจึงไม่ถูกกับเรื่องการเรียนหนังสือเลย ดำริที่จะศึกษาด้านปริยัติธรรมจึงเป็นอันต้องยกเลิกไป
หลวงปู่อยู่ปฏิบัติภาวนา และโปรดญาติโยมที่วัดสัมพันธวงศาวาสตลอดพรรษา นั้น
เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดลพบุรี
๒๙. ไปภาวนาที่ถ้ำอรหันต์ ลพบุรี
เมื่อหลวงปู่ไปถึงจังหวัดลพบุรี ได้ไปพำนักกับ พระอาจารย์อ่ำ ซึ่งต่อมาภายหลัง มีสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์
หลวงปู่พำนักที่จังหวัดลพบุรีเป็นเวลา ๓ เดือน พระอาจารย์อ่ำทราบอัธยาศัยของหลวงปู่ว่า ท่านมุ่งแสวงหาความวิเวก เพื่อบำเพ็ญธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จึงได้พาหลวงปู่ไปพำนักที่ ถ้ำน้ำจันทร์ ซึ่งต่อมาเรียกว่า ถ้ำอรหันต์
ที่ชาวบ้านเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำน้ำจันทร์” หรือ “ถ้ำน้ำ” ก็เพราะภายในถ้ำแห่งนี้มีแอ่งน้ำขนาดเล็กน้ำใสสะอาดและมีกลิ่นหอม
หลวงปู่ตั้งใจว่าจะบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด แต่แล้วท่านก็ไม่อาจอยู่ที่นั่นให้เนิ่นนานไปอีกได้
วันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่กำลังสรงน้ำ ก็ได้เห็น พระมหาพลอย อุปสโม (จุฑาจันทร์) มาจากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางตามหาหลวงปู่จนพบ
พระมหาพลอยกราบเรียนท่าน ถึงจุดมุ่งหมายของการเดินทางมาครั้งนี้ว่า
“โยมของกระผม ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกาทางเมืองสุรินทร์ ผู้สนใจประพฤติธรรมและพอจะเห็นผลของการปฏิบัติ มีความปรารถนาอยากจะพบท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดเห็นแก่โยมของกระผม และเห็นแก่ญาติโยมทางสุรินทร์ด้วยเถิด”
เมื่อได้รับการอาราธนานิมนต์จากพระมหาพลอย หลวงปู่จึงต้องเดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์เพื่อโปรดญาติโยมต่อไป
๓๐. หลวงปู่สาม “ ศิษย์สำคัญ” อีกองค์
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เดินทางกลับจังหวัดสุรินทร์ ตามคำอาราธนาของ พระมหาพลอย อุปสโม แล้วมาพำนักที่สำนักป่าบ้านเสม็ด ยังความปลาบปลื้มใจแก่สานุศิษย์ชาวสุรินทร์อย่างล้นพ้น
ในปีนั้น พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ได้มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ผิวพรรณหมดจด ผ่องใสกิริยาท่าทางสำรวม สอบถามได้ความว่า มีความมุ่งมั่นในการศึกษาทางพระศาสนา และเคยเดินทางไปแสวงหาที่เรียนด้านปริยัติที่กรุงเทพฯ แต่หาที่พำนักไม่ได้ จึงต้องกลับมาจำพรรษาที่สุรินทร์คืน
พระภิกษุหนุ่มรูปนั้นชื่อ พระสาม อกิญฺจโน ได้มากราบถวายตัวเป็นศิษย์ เรียนพระกรรมฐานกับหลวงปู่ดูลย์ที่บ้านหนองเสม็ด
พระสาม อกิญฺจโน ชอบใจต่อแนวทางปฏิบัติภาวนาและกิจธุดงค์เพราะถูกกับจริตของท่าน ต่อมาได้ติดตามหลวงปู่ดูลย์ออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ ละแวกใกล้เคียงจังหวัดสุรินทร์
ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ หลวงปู่ดูลย์ เห็นว่าพระสาม อกิญฺจโน ได้รับผลจากการปฏิบัติพอสมควร และมีศรัทธามั่นคงดีแล้ว จึงแนะนำให้เดินทางไปกราบเละศึกษาธรรมะกับ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่ เสนาสนะป่าบ้านสบบง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
พระสาม กับพระบุญธรรม รวม ๒ องค์ ใช้เวลาเดินเท้า ๑๕ วัน จึงไปถึงจังหวัดนครพนม ได้อยู่พำนักปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ใหญ่ ๓ เดือนแล้วส่งให้ไปพำนักกับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม สหายสนิทของหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ กิ่งอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
ต่อมา พระบุญธรรม ได้มรณภาพลง เหลือแต่ พระสาม ได้ติดตาม หลวงปู่สิงห์ ไปหลายแห่ง และเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ธรรมะในกองทัพธรรม
พระสาม อกิญฺจโน ได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปทั่วทุกภาคของประเทศ ถือเป็นพระที่เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์เป็นเวลานาน พักจำพรรษามากแห่ง เพิ่งมาพำนักประจำที่ วัดป่าไตรวิเวก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เมื่อท่านอายุ ๖๘ ปี
พระสาม อกิญฺจโน ก็คือ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน ของพวกเรานั่นเอง
เพื่อนสหธรรมิกที่สนิทสนมกับท่านมากที่สุด ก็คือ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร แห่ง สำนักวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ กับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร
เมื่อพูดถึง “พระดี” ของจังหวัดสุรินทร์ เรามักจะนึกถึง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน คู่กันเสมอ เพราะทั้ง ๒ องค์ มีปฏิปทาคล้ายคลึงกัน มีเรื่องราวต่างๆ ผูกพันและเกี่ยวข้องกันโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวในตอนต่อๆ ไป
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน มรณภาพเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปีเศษ ท่านมรณภาพหลังหลวงปู่ดูลย์ ๘ ปี (หลวงปู่ดูลย์ มรณภาพเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖)
๓๑. หวนกลับอุบลราชธานี
จากประวัติชีวิตของหลวงปู่ในช่วงนี้ พอจะกล่าวได้ว่า เป็นช่วงแห่งการต่อสู้ทางความคิดก็น่าจะได้
ความคิดหนึ่ง เป็นการศึกษาเพิ่มเติมด้านปริยัติ อันเป็นการศึกษาทางภาคทฤษฎี ศึกษาทางตัวหนังสือ ดังจะเห็นได้จากการเดินทางออกจากสำนักป่าหนองเสม็ด ไปยังวัดสุทธจินดา นครราชสีมา เพื่อฝากสามเณรโชติให้อยู่ศึกษาเล่าเรียน แล้วท่านเดินทางไปยังวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ ด้วยความคิดที่จะศึกษาเพิ่มเติมทางพระปริยัติ
อีกความคิดหนึ่ง เป็นการศึกษาด้วยการปฏิบัติ คือ การออกธุดงค์ มุ่งหาประสบการณ์ตรง ค้นหาสัจธรรมด้วยตนเอง ดังจะเห็นจากที่ท่านเปลี่ยนใจไม่ศึกษาด้านพระปริยัติ ที่วัดสัมพันธวงศาวาส แล้วเดินทางไปจังหวัดลพบุรี เพี่อบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำอรหันต์ให้นานที่สุด แต่ก็ได้รับการอาราธนานิมนต์ให้มาโปรดญาติโยมที่จังหวัดสุรินทร์อีก
หลวงปู่กลับมาพำนักที่สำนักป่าหนองเสม็ดตามเดิม หลังจากได้พระสาม อกิญฺจโน เป็นศิษย์ และส่งให้ไปศึกษาภาคปฏิบัติกับ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต แล้วหลวงปู่ก็พำนักโปรดญาติโยม ณ สำนักป่าหนองเสม็ดอีกระยะหนึ่ง
ด้วยอัธยาศัยและจิตใจของหลวงปู่โน้มเอียงมาทางด้านการปฏิบัติมากกว่าที่จะศึกษาทางพระปริยัติ ท่านจึงดำริที่จะออกกัมมัฏฐานธุดงค์อีกเพื่อปฏิบัติภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ในที่สุด หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จึงลาญาติโยมออกเดินทางจากสำนักป่าหนองเสม็ด มุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะย้อนกลับไปกราบครูบาอาจารย์ และจะจาริกธุดงค์ต่อไป
แต่เมื่อหลวงปู่ไปถึง วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ความตั้งใจเดิมก็ต้องสะดุดหยุดลง
เนื่องจากพระอุปัชฌายะของท่าน ได้ขอร้องให้ท่านพำนักที่วัดสุทัศนารามเพื่อช่วยก่อสร้างโบสถ์ให้เสร็จเสียก่อน
เมื่อพระอุปัชฌายะผู้มีพระคุณขอร้องเช่นนี้ ท่านจึงมิกล้าขัด และถือว่าเป็นโอกาสอันดี ที่มีส่วนทดแทนพระคุณ จำเป็นต้องอยู่ช่วยสร้างโบสถ์ แต่ท่านก็ตั้งปณิธานไว้ว่า โบสถ์เสร็จเมื่อไร ก็จะออกธุดงค์กัมมัฏฐานต่อไป
การเริ่มต้นก่อสร้างโบสถ์วัดสุทัศนารามในครั้งนี้ ทางวัดมีทุนเริ่มต้นเพียง ๓๐๐ บาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น ๖ ปี จึงแล้วเสร็จ นับเป็นพระอุโบสถที่สวยงามและใหญ่โตที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดและใช้ประกอบกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนาอย่างคุ้มค่า
ในระหว่างก่อสร้างโบสถ์นั้น หลวงปู่ดูลย์ ได้ช่วยเหลือพระอุปัชฌาย์ด้วยหน้าที่หลายอย่าง นอกจากช่วยด้านงานสร้างโบสถ์แล้ว ก็มีงานปกครองพระภิกษุสามเณร และเป็นพระกรรมวาจาจารย์บวชนาค
๓๒. ได้ศิษย์สำคัญที่อุบล
ในชีวิตของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้มีส่วนพัวพันกับ “มหาปิ่น” ๒ องค์ด้วยกัน
มหาปิ่น องค์แรก ก็คือ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องชายแท้ๆ ของ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม โดยที่หลวงปู่ดูลย์ มีส่วนร่วมเข้าไปผลักดันและโน้มน้าวร่วมกับหลวงปู่สิงห์ เพื่อให้พระอาจารย์มหาปิ่น ที่แต่เดิมใฝ่ใจเฉพาะในด้านปริยัติ ให้ได้มาสนใจในการปฏิบัติธุดงคกัมมัฏฐาน เพื่อเสริมเติมเต็มการศึกษาธรรมะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้งด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และต่อมา พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เป็นกำลังสำคัญ ออกเผยแผ่ธรรมปฏิบัติธุดงค์กัมมัฏฐานเคียงคู่กับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม จนกลายเป็นสองแม่ทัพใหญ่ แห่งกองทัพธรรม
มหาปิ่น อีกองค์หนึ่ง มาเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ในขณะที่ท่านพำนักอยู่ ณ วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือพระอุปัชฌายะของท่านในช่วงที่กำลังสร้างโบสถ์
ได้มีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง หน้าตาหมดจด ท่าทีเฉลียวฉลาด ขยันขันแข็งในการศึกษา ได้เข้ามาเป็นศิษย์ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิด และฝึกปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่หลวงปู่ได้พิจารณาเห็นแววของสามเณรน้อยรูปนี้ จึงต้องการสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าต่อไป จึงได้ฝากสามเณรให้ไปอยู่ในความดูแลของ พระมหาเฉย ยโส (ภายหลังมีสมณศักดิ์ที่ พระเทพปัญญากวี) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพมหานคร
สามเณรน้อยมีความเจริญก้าวหน้าในการศึกษาด้านปริยัติมาเป็นลำดับจนสามารถสอบได้ถึง เปรียญธรรม ๗ ประโยค แล้วลาสิกขาบทไปรับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ในกองทัพบก ได้เลื่อนยศ เป็นถึง “นายพันเอก”
ต่อมาได้ย้ายโอนจากกองทัพบก ไปรับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึง อธิบดีกรมการศาสนา
สามเณรน้อยศิษย์ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น คนทั่วประเทศไทยรู้จักท่านในนาม พันเอกปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา
พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ เป็นนักปาฐกฝีปากคม เป็นนักเผยแพร่ธรรมะที่มีชื่อเสียง และมีผลงานด้านหนังสือธรรมะมากมาย ท่านมีความรักและเคารพต่อหลวงปู่ ประดุจบิดาบังเกิดเกล้า และเคารพท่านเป็นครูบาอาจารย์ ตราบจนตลอดชีวิต
ในคำนำหนังสือธรรมะชุด “ก้าวหน้า” พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ได้เขียนถึงหลวงปู่ว่า
“ท่านหลวงปู่ดูลย์ เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานองค์หนึ่ง เป็นพระพูดน้อย แต่ทำมาก เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมา”
การพูดน้อย แต่ทำมาก จึงดูเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของหลวงปู่
๓๓. รับบัญชาคณะสงฆ์
หลวงปู่ดูลย์ อยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยกิจการอุปัชฌายะ ในขณะที่กำลังก่อสร้างโบสถ์ ด้วยภารกิจด้านการปกครองและให้การอบรมภิกษุสามเณร และการเป็นพระกรรมวาจาจารย์บวชนาค รวมเป็นเวลา ๖ ปี จนกระทั่งการก่อสร้างพระอุโบสถเสร็จเรียบร้อย
เมื่อหลวงปู่เห็นว่าภาระที่รับปากพระอุปัชฌายะเสร็จลงแล้ว จึงเตรียมการที่จะออกธุดงค์ แสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิมต่อไป
แต่แล้ว เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามความประสงค์ จึงต้องเลิกล้มความตั้งใจเดิมอย่างฉับพลัน
ด้วยท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ในสมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์ ได้สถาปนาวัดบูรพาราม ขึ้นเป็นวัดธรรมยุต แห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
มีบัญชาให้ พระมหาพลอย อุปสโม ป.ธ.๖ จากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางมาจัดการฟื้นฟูการศึกษา
ขณะเดียวกัน ก็มีบัญชาให้ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล มาช่วยอีกแรงหนึ่ง ทางด้านวิปัสสนาธุระ
ในขณะนั้น วัดบูรพารามกำลังอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องด้วยก่อสร้างมานานร่วม ๒๐๐ ปี ต้องการการบูรณะซ่อมแซมเพื่อให้กลับฟื้นคืนสู่สภาพที่ดี และให้เป็นศูนย์การศึกษาทางพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายวิปัสสนา ตามความดำริของคณะสงฆ์
ด้วยเหตุที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น เป็นพระภิกษุผู้เจริญด้วยคุณธรรม มีความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย จึงไม่อาจขัดบัญชาของพระเถระผู้บริหารการคณะสงฆ์ได้ จึงต้องเดินทางกลับสุรินทร์ เพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมาย
เป็นอันว่า ความประสงค์ที่จะออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญคุณธรรมส่วนตัวให้ยิ่งขึ้นไป ซึ่งได้รั้งรอไว้ถึง ๖ ปี จำเป็นต้องยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต้องเดินทางกลับมาตุภูมิ เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ปวงชน โดยมีเป้าหมายแห่งศาสนกิจสำคัญ รออยู่ข้างหน้า ที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
หลวงปู่ดูลย์ อตุโลได้บันทึกไว้ด้วยมือของท่านเองเอาไว้ว่า
"มาอยู่วัดบูรพาราม เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นเจ้าคณะอำเภอรัตนบุรี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙”
๓๔. วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองสุรินทร์ หากถือเอาคูเมืองและกำแพงเมืองโบราณเป็นบรรทัดฐาน ก็จะมองเห็นที่ตั้งของวัดสำคัญๆ ในเมืองสุรินทร์ได้ ดังนี้
ขณะที่วัดจุมพลสุทธวาส วัดพรหมสุรินทร์ วัดหนองบัว วัดจำปา และวัดศาลาลอย ถือได้ว่าเป็นวัดนอกตัวเมือง ตั้งอยู่ติดกับคูเมืองด้านนอก เรียงรายรอบตัวเมือง
สำหรับวัดบูรพาราม กับวัดกลาง ๒ วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดที่อยู่ภายในกำแพงชั้นใน คืออยู่ในใจกลางเมืองสุรินทร์
วัดบูรพาราม เป็นวัดเก่าแก่ เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวเมืองสุรินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังเรียกว่า เมืองประทายสมันต์ หรือ เมืองไผทสมันต์ นั่นเทียว
สันนิษฐานว่า วัดบูรพาราม สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ปี เท่า ๆ กับอายุของเมืองสุรินทร์
ตามตำนานของเมืองสุรินทร์เล่าขานกันมาว่า เมื่อพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ได้ตำแหน่ง จางวางเมืองประทายสมันต์ ก็เริ่มทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยการ "ฝึกฟื้นใจเมือง” ตามธรรมเนียมการพัฒนาบ้านเมืองของไทย ที่นิยมสืบทอดกันมาแต่โบราณ
คือ ส่งเสริมการพระศาสนาให้เจริญ ควบคู่กับการบำรุง “กายเมือง” หรือพัฒนาด้านวัตถุให้เจริญควบคู่ไปด้วยกัน
วัดบูรพาราม ได้รับการปลูกสร้างขึ้นที่ใจกลางเมืองพอดี จึงเป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองชั้นใน
เนื่องจากวัดแห่งนี้สร้างขึ้นมานาน สภาพจึงชำรุดทรุดโทรม ทางคณะสงฆ์มณฑลนครราชสีมา มีความประสงค์ที่จะบูรณะขึ้นใหม่ และสถาปนาเป็น วัดธรรมยุตแห่งแรกในจังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖
เมื่อหลวงปู่ดูลย์ได้รับบัญชาจากท่านเจ้าคณะมณฑล ให้มาดูแลบูรณะวัดบูรพาราม ท่านจึงรับภาระนี้ด้วยความเต็มใจ
หลวงปู่ดูลย์จึงงดกิจด้านออกธุดงค์ และพำนักประจำที่วัดบูรพารามนี้ติดต่อกันตลอดมา ตราบเท่าถึงวันมรณภาพของท่าน ซึ่งท่านอยู่ประจำที่วัดแห่งนี้รวมเวลาทั้งสิ้น ๕๐ ปี
๓๕. หลวงพ่อพระชีว์ : พระพุทธรูปคู่เมืองสุรินทร์
ปูชนียวัตถุสำคัญ ที่ถือกำเนิดมา พร้อมกับวัดบูรพาราม และเป็นที่เคารพนับถือ ว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดสุรินทร์ คือพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นองค์ประธานในวัด ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า "หลวงพ่อพระชีว์" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ประดิษฐานอยู่ในมณฑปจัตุรมุข ก่ออิฐ ถือปูน อยู่ด้านตะวันตกของพระอุโบสถปัจจุบัน
สำหรับ หลวงพ่อพระชีว์ องค์นี้นับว่าแปลกอย่างหนึ่ง คือไม่สามารถสืบประวัติได้ว่าสร้างขึ้นเมื่อไรและท่านผู้ใดเป็นคนปรารภมา พอถามคนแก่อายุร้อยปี ได้คำตอบว่า เคยถามคนอายุร้อยปีเหมือนกัน เขาก็บอกว่าเห็นองค์ท่านอยู่อย่างนี้มาแล้ว โดยสรุปก็สามารถสืบสาวไปได้แค่ ๒๐๐ ปีก็จบ และไม่ทราบว่าผู้ใดสร้างและสร้างเมื่อไร
สันนิษฐานว่า คงจะสร้างมาพร้อมกับเมืองสุรินทร์ และก็สันนิษฐานกันต่อไปว่าทำไมจึงชื่อว่า "หลวงพ่อพระชีว์" เป็นชื่อแต่เดิม มี “ว” การันต์ คือ “ชีวะ” ก็คงจะเป็น “ชีวิต” ซึ่งอาจยกย่องท่านว่าเป็นเสมือน เจ้าชีวิต หรือ เป็น ยอดชีวิตของคนสมัยนั้นกระมัง
ข้อสันนิษฐานอีกทางหนึ่งก็ว่า อาจจะเกี่ยวกับ ลำน้ำชี เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้ชื่อนี้อาจจะได้ ไม้พิเศษ หรือ ดินพิเศษ มาจากลำชี มาปั้นเป็นองค์ท่านกระมัง จึงได้ชื่ออย่างนี้
เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านก็ไม่ทราบประวัติของ หลวงพ่อพระชีว์ เช่นเดียวกัน ท่านว่า ก็เห็นองค์ท่านอยู่อย่างนี้แหละ แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่เล็กจนโตมา ก็ถามคนโบราณเช่นเดียวกัน เขาก็ว่า “ก็เห็นอยู่อย่างนี้”
ถ้าย้อนนึกถึงสมัยก่อนเทต้องยอมรับว่า แถวสุรินทร์ซึ่งถือเป็นเมืองบ้านนอก มีความอัตคัดเรื่องพระพุทธรูปที่จะกราบไหว้กันเหลือเกิน เมื่อสมัย ๑๐๐ ปีหรือ ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมา หรือย้อนไปถึง ๒๐๐ ปี จะเห็นว่า แถวนี้ไม่มีพระพุทธรูปสำริด หรือ ทองเหลือง มีเพียงพระพุทธรูปูที่ทำด้วยไม้ หรือดินปั้น ซึ่งก็ไม่ได้ปั้นให้ได้ปุริสลักษณะที่แท้จริง เพียงแต่ทำขึ้นเสมือนหนึ่งว่า สมมุติให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้น สมัยนั้นจึงไม่มีพระพุทธรูปที่งดงามให้กราบไหว้
“ด้วยเหตุนี้กระมัง คนสุรินทร์สมัยนั้นจึงไม่ค่อยสวยงาม ไม่ค่อยมีลักษณะที่ดี เพราะการสร้างพระพุทธรูปไม่ได้พระพุทธรูปที่งามเมื่อกราบติดอกติดใจ ก็ไม่ได้ลูกเต้าที่งดงามกระมัง”
ในสมัยนั้นแถวจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษหรือแถบอีสานใต้ ยังไม่มีพระพุทธรูปองค์ไหนที่งดงาม หรือมีลักษณะที่มีอำนาจและก็ไม่มีขนาดใหญ่เท่ากับหลวงพ่อพระชีว์เลย ด้วยท่านมีขนาดใหญ่และดูเคร่งขรึม มีอำนาจน่าเกรงขามชาวบ้านจึงนับถือท่านในด้านความศักดิ์สิทธิ์
แม้ทางราชการ ในสมัยที่ข้าราชการมีการทำพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก็ต้องมาทำพิธีต่อหน้า หลวงพ่อพระชีว์ องค์นี้เอง
ด้วยความเคารพนับถือท่านในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจึงเชื่อว่าท่านสามารถดลบันดาลให้เขาสำเร็จประโยชน์โสตถิผล อย่างใดอย่างหนึ่งได้
“เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แถวสุรินทร์และบุรีรัมย์ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่หมิ่นเหม่ต่ออันตราย ด้วยการเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศ สมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๘๘ พวกอาตมายังเป็นเด็ก เรียน ป.๑-ป.๒ จะมีเครื่องบิน วนเวียนไปทิ้งระเบิดแถวกัมพูชา และแถบสุรินทร์-บุรีรัมย์ ชาวบ้านตกอกตกใจ ก็ได้แต่ไปกราบไปไหว้ขอบารมีหลวงพ่อพระชีว์ เป็นที่พึ่ง ขออย่าให้บ้านเมืองถูกระเบิดเลย หรือเครื่องบินมาแล้วก็อย่าได้มองเห็นบ้านเมือง” หลวงพ่อพระราชวรคุณเล่าให้ฟัง
นอกจากนี้ ชาวบ้านก็มักพากันมาบนบานศาลกล่าว เวลาเกิดยุคเข็ญต่างๆ เช่น เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรืออหิวาตกโรคหรือโรคฝีดาษมีการระบาด ซึ่งสมัยนั้นถ้ามีโรคระบาดมาแต่ละชุด ผู้คนจะล้มตายจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นก็ได้หลวงพ่อพระชีว์เป็นที่พึ่งทางใจ ให้เขารู้สึกปลอดภัย หรือพ้นภัยพิบัติ คนสุรินทร์จึงนับถือท่านตลอดมา
บางครั้งประชาชนก็มาบนบานศาลกล่าวให้ประสบผลสำเร็จ ประสบโชคดีในลักษณะนี้ก็มี ซึ่งทางวัดก็ไม่ได้สนับสนุน และก็ไม่ได้ปฏิเสธ ในเรื่องความเชื่อถือของประชาชน ก็เพียงแต่อนุโมทนาสาธุการ ถ้าความปรารถนาของเขาประสบผลสำเร็จ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ากราบไหว้ได้เต็มที่
ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ได้อาศัยบารมี หลวงพ่อพระชีว์ ในการพัฒนาวัดบูรพารามให้เจริญรุ่งเรืองโสตหนึ่งด้วย กล่าวคือ เมื่อชาวบ้านพากันเคารพนับถือ หลวงพ่อพระชีว์ เป็นอันมาก ก็เป็นการสะดวกต่อหลวงปู่ของเราที่จะบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระอุโบสถให้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ลำบากยิ่งในสมัยนั้น
๓๖. ปักหลักอยู่วัดบูรพาราม
เมื่อ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้รับบัญชาจากคณะสงฆ์มณฑลนครราชสีมาให้มาพัฒนาวัดบูรพารามแล้ว ท่านก็มุ่งตรงไปยังจังหวัดสุรินทร์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทันที
กิจการด้านพระศาสนาที่รอรับหลวงปู่ นับว่าเป็นภารกิจที่หนักมากเพราะจะต้องริเริ่มทุกด้าน ทั้งการศึกษาด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติ ด้านการก่อสร้างและการเผยแผ่สู่ประชาชน ซึ่งในขณะนั้นต้องยอมรับว่า ยังล้าหลังในทุกๆ ด้านอย่างมากทีเดียว
ดังนั้นเมื่อหลวงปู่ดูลย์ตัดสินใจว่า จะปักหลักอยู่ที่วัดบูรพารามนี้แล้วจึงต้องเริ่มงานด้านพระศาสนาทุกอย่าง ตั้งแต่จัดการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม การเผยแผ่ด้านการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ทั้ง ๒ ด้านจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน
ถ้าย้อนรำลึกถึงอดีต จะเห็นว่า การมาสุรินทร์ครั้งนี้ เป็นการมาครั้งที่ ๒ ของท่าน ในรอบแรก เมื่อท่านมาสุรินทร์ในครั้งนั้น ท่านได้เริ่มแนะนำเฉพาะด้านปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเดียว เพราะท่านเดินทางมาแบบพระธุดงค์ เป็นการเผยแผ่ในระหว่างปฏิบัติ และผู้สนใจในวงที่ไม่กว้างนัก รวมทั้งเผยแผ่ในระหว่างสหธรรมิกที่เป็นพระสงฆ์ด้วยกัน การเผยแผ่ในครั้งนั้นล้วนแต่เป็นเรื่องพระกัมมัฏฐานล้วน
การมาสุรินทร์ในครั้งที่สองนี้ เป็นด้วยบัญชาจากคณะสงฆ์ให้ท่านมาปักหลักอยู่จริงๆ เน้นการศึกษาทั้งด้านปริยัติและการปฏิบัติ ท่านจึงต้องเริ่มงานทั้ง ๒ ด้านนี้อย่างจริงจังต่อไป
ความจริงแล้ว การศึกษาและการปฏิบัติด้านพระศาสนาในสมัยนั้น เป็นเพียงการทำสืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยบรรพกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถบจังหวัดสุรินทร์นั้น เป็นพื้นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชามากที่สุด แต่ละแถบแต่ละถิ่นของสุรินทร์ มักจะมีภาษาพื้นเมืองเป็นภาษาเขมร แต่อีสานทางเหนือ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี จะถนัดไปทางภาษาลาว แม้ตัวอักขระ พยัญชนะที่ใช้ในการเรียน การเทศน์ การสวด ก็ยังมีภาษาธรรม หรืออักษรของประเทศลาวอยู่
ทางแถบอีสานใต้ เช่นสุรินทร์ บุรีรัมย์ และบางส่วนของศรีสะเกษนั้น แน่นอนจะต้องมีความโน้มเอียง ทั้งด้านภาษา ขนบธรรมเนียมไปทางเขมรอยู่มาก การเขียนก็นิยมใช้อักษรขอม ไม่ว่าจะใช้ในการเทศน์ การสวด หรือพิธีกรรมต่างๆ ตามประเพณี ก็ยังนิยมใช้อักษรขอมอยู่ พระจะเทศน์ตามคัมภีร์ และคัมภีร์เหล่านั้นก็เป็นอักษรขอม
เมื่อเริ่มมีการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรนักธรรมตรี บาลีศึกษา ก็เริ่มใช้อักษรไทย และภาษาไทยมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าในสมัยของหลวงปู่นี้เอง เป็นสมัยเริ่มแรกของการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมเป็นการศึกษายุคใหม่ ใช้วิธีใหม่ หลวงปู่จึงต้องรับภาระนี้อย่างเต็มที่
๓๗. ส่งเสริมทั้งปริยัติและปฏิบัติ
ปฏิปทาของหลวงปู่นั้น แม้จะรับภาระด้านการบริหาร ในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ อาจารย์สอนเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดในภายหลัง หน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ท่านยอมรับอย่างเต็มกำลัง
ในขณะเดียวกัน ปฏิปทาทางคุณธรรม หรือข้อปฏิบัติที่ท่านเคยศึกษามา ในทางกัมมัฏฐาน ทางธุดงค์ ท่านก็ยึดแนวทางนี้ เป็นหลักสำคัญอยู่ ท่านยังปฏิบัติสม่ำเสมอ ทั้งที่เป็นส่วนตัวของท่าน ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลา สอนพระภิกษุสามเณรและประชาชนที่สนใจเป็นประจำเสมอมา
ในช่วงกลางๆ ชีวิต ในระหว่างที่หลวงปู่มาอยู่ที่สุรินทร์นั้น ท่านจะมีการสมาคมไปทางครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน มีความร่วมมือ การติดต่อ การไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียน รวมทั้งส่งพระเณรไปศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่างๆ ด้วย
ที่วัดบูรพาราม มีพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก องค์ไหนที่สนใจใส่ใจศึกษาทางฝ่ายปริยัติ นอกจากจะเรียนเบื้องต้นในวัดบูรพารามแล้ว ก็ส่งมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในระดับสูงต่อไป
สำหรับบางรูปที่สนใจในการประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือองค์ไหนสนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแท้จริง หลังจากหลวงปู่ให้การฝึกอบรมด้วยองค์ท่านเองแล้ว ท่านก็จะส่งองค์ที่สนใจไปอยู่กับ พระอาจารย์เทสก์ วัดหินหมากเป้ง หนองคาย บ้าง พระอาจารย์ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร บ้าง ที่ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี บ้าง
นี่คือภาระหน้าที่ด้านการศึกษาที่หลวงปู่ทำ ในระหว่างมาพำนักที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งการศึกษาพระศาสนาทั้ง ๒ ด้าน มีความก้าวหน้า เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ ก็เป็นผลงานการวางรากฐานของหลวงปู่นั่นเอง
นอกจากภารกิจด้านการศึกษาแล้ว ด้านพิธีการปฏิบัติต่างๆ ในจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น ก็ยังไม่มีแบบแผนอะไร แทบกล่าวได้ว่ายังไม่มีอะไรเลย เป็นต้นว่า พิธีในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา การตักบาตรเทโว เป็นต้น คณะสงฆ์ในสมัยนั้นก็ได้ริเริ่มจัดให้มีขึ้น และกำหนดแบบอย่างในการปฏิบัติ เช่นพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ ศาสนพิธีต่างๆ ก็เพิ่งจะมีการฟื้นฟู มีการจัดทำเป็นพิธีการในสมัยหลวงปู่นั่นเอง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ คือ วิธีการที่หลวงปู่มาเผยแผ่ หรือเปิดกรุแห่งการศึกษาทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ และแบบอย่างศาสนพิธี ให้แก่จังหวัดสุรินทร์ในยุคนั้น และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ว่าเป็นมรดกธรรมที่เกิดจากการริเริ่มของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นี่เอง
๓๘. ก่อสร้างพระอุโบสถ
เมื่อมาพำนักที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะอำเภอรัตนบุรี อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ครั้นได้โอกาสอันสมควร ก็เริ่มงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดบูรพรามทันที
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่เริ่มงาน สร้างพระอุโบสถแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นแห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ และนับเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ด้วย มีประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด แต่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพราะแรงงานส่วนใหญ่ ได้อาศัยชาวบ้าน และพระภิกษุ เณรช่วยกัน โดยหลวงปู่เป็นผู้คิดแบบแปลนด้วยตัวท่านเอง
การสร้างพระอุโบสถแห่งนี้ เสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ใช้เวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๑๔ ปี
ในการสร้างพระอุโบสถหลังนี้ นอกจากอาศัยความสามารถและบารมีของหลวงปู่แล้ว ยังได้อาศัยกำลังสำคัญ ของศิษยานุศิษย์อีกหลายท่านที่สำคัญได้แก่
๑. พระมหาโชติ คุณสมฺปนฺโน ต่อมาเป็นที่ พระเทพสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘)
๒. พระมหาเปลี่ยน โอภาโส ต่อมาเป็นที่ พระโอภาสธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัดป่าโยธาประสิทธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ (ครั้งสุดท้ายพำนักอยู่ที่วัดบูรพาราม และมรณภาพเมื่อไม่นานมานี้)
๓. พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ (มรณภาพเมื่อ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔)
พระราชวรคุณ (อดีตพระโพธินันทมุนี และ พระครูนันทปัญญาภรณ์) ลูกศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ ได้เล่าถึงการต่อสู้ของหลวงปู่ ในการพัฒนาวัดในยุคเริ่มแรก และการสร้างพระอุโบสถ จะว่าใหญ่ที่สุดในยุคก่อนของภาคอีสานก็ได้ ด้วยการก่ออิฐถือปูน เทคอนกรีตเป็นหลังแรก ผู้คนสมัยนั้นก็แตกตื่นมาดู “โบสถ์วัดบูรพ์”
“วัดบูรพ์” ในสมัยก่อนก็ดังไปทั่ว เพราะแม้แต่อิฐแต่ปูน คนแถวนั้นก็ไม่เคยเห็น หลวงปู่ท่านก็ทำความพยามยามของท่าน จึงเป็นการต่อสู้อย่างยิ่ง ซึ่งในตอนหลังก็มี หลวงปู่สาม มาช่วยอีกแรงหนึ่ง เป็นกำลังสำคัญให้โบสถ์สำเร็จลงได้
สมัยก่อนการบอกบุญเรี่ยไรเป็นการยากลำบากจริงๆ หลวงปู่ท่านว่าบางทีพระเดินบอกบุญเรี่ยไรเงิน ๒ หมู่บ้านแล้วยังได้แค่ ๒ สตางค์เท่านั้น (ไม่ใช่ ๒ บาท แต่เป็น ๒ สตางค์เท่านั้น) พระต้องเดินบอกบุญไปหลายวัน จึงจะรวบรวมปัจจัยได้ ๑ บาทอย่างนี้ก็มี
การบอกบุญในสมัยนั้น จึงได้ให้ประชาชนบริจาคเป็นข้าวเปลือก ได้อาศัยข้าวเปลือก ถ้าขอให้ชาวบ้านบริจาคเป็นเงินสด ก็จะได้เพียงหมู่บ้านละ ๒-๓ สตางค์เท่านั้น คงไม่ไหว
ขณะนั้นปูนซีเมนต์ก่อสร้างราคาถุงละ ๘๐ สตางค์ ไปถึง ๑ บาทกว่าแล้ว ในสมัยนั้นซีเมนต์สีแดงๆ ไม่มีคุณภาพเท่าไร
หลวงปู่เล่าบอกว่า การบริจาคได้จากการเรี่ยไรข้าวเปลือก เมื่อทำดังนั้นทุกคนทุกบ้านก็มีข้าวเปลือกด้วยกันทั้งนั้น เขาจึงเอาข้าวเปลือกมาบริจาคคนละกระบุง คนละกะเฌอ ถ้าตีราคากะเฌอละ ๑๓-๑๔ สตางค์ ก็จะดีกว่าขอบริจาคเป็นเงินและจะได้ทุกบ้าน
เมื่อได้ข้าวเปลือกมา ก็ทำให้มองเห็นเงินสด ร้อยบาทบ้าง สองร้อยบาทบ้างหรือบางทีก็ได้ถึงพัน แต่ละปี ก็นำเงินมาสร้างโบสถ์ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ มาเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี ๒๔๙๓ ลองคิดดู ใช้เวลากี่ปี นี่หลวงปู่ได้ต่อสู้เรื่องโบสถ์มากับหลวงปู่สาม
พอสร้างโบสถ์วัดบูรพ์เสร็จแล้ว หลวงปู่สามท่านจึงออกท่องเที่ยวธุดงค์ไปเป็นเวลานาน
นี่คือชีวิตการต่อสู้ของครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนกว่าจะสำเร็จ
สำหรับอิฐนั้นไม่มีขาย พระเณรในวัด และชาวบ้านช่วยกันเหยียบเองและทำเตาเผาเองทั้งหมด แล้วใช้ไม้ทางโรงเลื่อยมาช่วย
๓๙. หลวงพ่อพระประธาน
สำหรับพระประธานในโบสถ์ของวัดบูรพารามนั้นเป็น พระพุทธชินราชจำลอง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง หล่อเสร็จเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๐โดยมี พระครูคุณสารสัมบัน (โชติ คุณสมฺปนฺโน) พระครูนวกิจโกศล (เปลี่ยน โอภาโส) กับคณะสงฆ์ ประชาชนชาวสุรินทร์ร่วมกันสร้าง หลวงปู่ดูลย์ อตุโลเป็นประธานดำเนินงาน
ท่านเจ้าคุณ พระราชวรคุณ สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธินันทมุนี ได้เล่าถึงเหตุอัศจรรย์ เกี่ยวกับการสร้างพระประธานว่า
...ในส่วนนี้มันก็แปลก มีส่วนที่อาตมาว่าแปลก เท่าที่อาตมาอยู่กับท่านเห็นว่า ท่านมีความเกี่ยวพันกับน้ำฝนหลายครั้ง จะว่าเป็นเรื่องฤทธิ์หรือไม่ ก็ไม่ทราบ เมื่อหล่อพระพุทธรูป พระประธานที่ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปหล่อ ถือเป็นการจัดงานหล่อพระพุทธรูปครั้งแรกในจังหวัดสุรินทร์ เหตุการณ์ครั้งนั้นโด่งดังไปทั่วจังหวัด คือ เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถใกล้จะเสร็จ แล้วมีการหล่อพระประธาน ก็คือ หล่อพระพุทธชินราชจำลองแบบสมัยใหม่ องค์ที่เป็นพระประธานไว้ในพระอุโบสถ ด้วยการเชิญช่างหล่อมาทำการหล่อที่จังหวัดสุรินทร์
ประชาชนให้ความสนใจเป็นอันมาก ได้ส่งข้าวของมาช่วย ไม่ว่าจะเป็นทองเหลือง ทองแดง อะไรต่างๆ มาเยอะแยะ เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีขึ้น
ในสมัยที่เงินทองกำลังหายาก ก็มีชื่อโด่งดังว่า ในพิธีจัดงานนี้ ได้เงินบริจาคสูงถึงแปดหมื่นบาท เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๙ สามารถรวบรวมเงินทองโดยชาวบ้านไปทำบุญกับหลวงปู่เพื่อหล่อพระประธาน
การสร้างพระประธานใช้เงิน ๓ หมื่นบาท ในขณะนั้นได้รับเงินบริจาคถึง ๘ หมื่นบาท ก็มีเหตุอัศจรรย์ฟ้าผ่า ๘ ทิศให้ปรากฏ ความจริงเรื่องอัศจรรย์ต่างๆ หลวงปู่ไม่ได้ให้ความสนใจ
อาตมาก็ไม่นิยมเรื่องอัศจรรย์ทำนองนี้ แต่ที่จะพูดนี้ไม่ใช่จุดนี้ ไม่ใช่เรื่องนี้ คือจะพูดตรงที่ว่า เมื่อหล่อพระประธานเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นอาตมาบวชเณรแล้วนะ หล่อพระประธานได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะอัญเชิญเข้าประดิษฐานในโบสถ์ตามวันที่กำหนด
หลวงปู่ก็เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด (สมัยนั้นเรียกว่า ข้าหลวง) และบุคคลสำคัญอื่นๆ ของจังหวัด เช่น เทศมนตรี ข้าราชการฝ่ายต่างๆ เพื่อแจ้งให้คณะกรรมการทราบว่า วันที่เท่านั้นๆ จะยกพระประธานขึ้นประดิษฐานบนแท่นในโบสถ์ ขอให้มาช่วยกัน มาร่วมมือกันให้มากหน่อย
พวกเขาเหล่านั้นกราบเรียนหลวงปู่ว่า พระพุทธรูปองค์สำคัญขนาดนี้ไม่ควรทำอย่างเงียบๆ ควรจะแห่รอบเมืองเสียก่อน จัดขบวนแห่ให้สวยงามและยิ่งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ
หลวงปู่บอกว่า “ไม่ต้องหรอก ไม่ต้องแห่หรอก มันจะเป็นการลำบากและกีดขวางถนนหนทาง เมื่อหล่อเรียบร้อยแล้ว ก็อาราธนานิมนต์ท่านประดิษฐานในโบสถ์เลย” ท่านตกลงอย่างนี้
ทีนี้เมื่อหลวงปู่ตกลงตัดบทอย่างนี้แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็มาประชุมกันต่างหาก และตกลงกันว่าจะแห่ “เมื่อหลวงพ่อไม่ให้แห่ ก็เรื่องของหลวงพ่อคงไม่เป็นไร พวกเราเห็นควรแห่ ก็คงไม่เป็นไร"
ตกลงคณะกรรมการวัด และข้าราชการ ตกลงจัดขบวนแห่ หลวงปู่ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร ปล่อยไปตามเรื่องของเขา
พอถึงวันแห่ ผู้คนร่วมอย่างมากมาย สมัยนั้นก็มีพวกญวนอพยพก็มาร่วมด้วยจำนวนมาก จัดขบวนแห่กันอย่างมโหฬาร มีการแต่งตัวตามแบบโบราณบ้าง ตามแบบสมัยใหม่บ้าง คนแตกตื่นมาร่วมกันมาก
แล้วก็ยกพระประธานขึ้นรถ ตอนนั้นดูเหมือนจะใช้รถยนต์คันเก่าๆ ของเทศบาล ยกพระประธานขึ้นรถเรียบร้อยพอได้เวลาแห่ กำลังจะเคลื่อนขบวนกัน ก็ขอเลื่อนเวลาออกไปหน่อย เนื่องจากจะออกขบวนกันตั้งแต่เที่ยงก็ร้อนไป เพราะเป็นเดือนพฤษภาคม วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ก็มาเปลี่ยนเวลาแห่เป็นตอนบ่าย ให้หายร้อนสักหน่อย
ขบวนแห่ทุกอย่างก็เตรียมพร้อม หลวงปู่ท่านอยูในกุฏิ ไม่ได้ออกมาตูเลย พวกเขาก็จัดการกันเอง คนมาร่วมพิธีอย่างเนืองแน่น เตรียมจะเคลื่อนขบวนออกไปทางหน้าวัดทางตะวันออก
ทุกคนมัวแต่กุลีกจอไม่ได้หันหน้าไปดูทางด้านตะวันตก ปรากฏว่าเมฆฝนตั้งเค้าบนท้องฟ้าด้านตะวันตก พอเริ่มจะเคลื่อนบวนเท่านั้น ทั้งฝนทั้งลมก็มาอย่างหนักทั่วทิศ ลมก็แรง ต่างคนต่างก็หนีฝนขึ้นศาลาบ้าง เข้าโบสถ์บ้าง หลบใต้ถุนกุฏิบ้าง
ต้นไม้หักระเนระนาด หลายคนหาที่หลบฝนไม่ทัน เพราะคนมันมาก อาคารสถานที่ไม่พอ ก็พากันกางร่ม แล้วถูกลมพัดกระจัดกระจายหมด
ฝนตกนานเกือบ ๒ ชั่วโมง ยังไม่หยุด พอฝนหยุดตกก็ค่ำมืดพอตี ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันกลับโดยอัตโนมัติ
คนที่แต่งหน้าแต่งตามาสวยงาม เมื่อเข้าขบวน ก็เสียหายหมด แป้งทาหน้าในสมัยก่อนสงสัยว่าจะสู้ทุกวันนี้ไม่ได้ แป้งมันไหลลงมายังกับอาคารรั่ว แล้วสีมันเลอะออกมาอย่างนั้นแหละ แล้วร่มกระดาษที่ประชาชนเอามากาง ก็ถูกลมพัดเอาไปหมด เหลืออยู่แต่ด้าม เหมือนกับพากันถือไม้ตะพด เพราะลมมันหอบเอาไปหมดก็พากันเดินกลับบ้านไป ทุกอย่างจบสิ้น ไม่มีใครพูดถึงเรื่องการแห่พระอีก
รุ่งเช้า หลวงปู่ก็ให้เรียกพระเณรมารวมกัน รวมทั้งญาติโยมที่มาวัดในเช้านั้น ช่วยกันยกพระประธานขึ้นประดิษฐานบนรัตนบัลลังก์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งในกรณีฝนตก ซึ่งจะเห็นว่า เหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของหลวงปู่ ผูกพันกับฝนตกหลายครั้งหลายครา จนลูกศิษย์ลูกหาสงสัยกันว่าหลวงปู่มีวิบากอะไรผูกพันกับฝนก็ไม่ทราบ แต่ไม่เคยมีใครกราบเรียนถามหลวงปู่ในเรื่องนี้
ท่าน พระราชวรคุณ สรุปว่า “จะว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ จะว่าอิทธิฤทธิ์หรือไม่อิทธิฤทธิ์ อาตมาไม่ทราบ อาตมาพูดได้เพียงว่า อันนี้เป็นเรื่องแปลกเท่านั้นเอง”
๔๐. พระอารามหลวง
ในการบริหารการพระศาสนาที่วัดบูรพารามนั้นหลวงปู่ท่านอยู่ในฐานะประธานสงฆ์ได้แบ่งงาน ด้านการศึกษาและการปกครองให้แก่ พระมหาพลอย อุปสโม เป็นผู้ดำเนินการ
ด้านการเผยแพร่ เทศนาอบรมประชาชนได้มอบให้ พระมหาเปลี่ยน โอภาโส เป็นผู้ดำเนินการ
จากวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๗๗ เมื่อหลวงปู่มาพำนักที่วัดบูรพารามครั้งแรก จนกระทั่งละสังขารเมื่อเวลา ๐๔.๑๓ น. ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ รวมเป็นเวลา ๕๐ ปีเศษ ที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พำนักอยู่ ณ วัดแห่งนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หลวงปู่ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ติดต่อกับอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๗ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูรัตนากรวิสุทธิ์ พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะแขวงรัตนบุรี
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
กระทั่งวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อีก ๓ ปีต่อมา ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญ (เจ้าคุณ) ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ วินยานุยุตธรรมิกคณิสสร หรือ "พระรัตนากรวิสุทธิ์"
วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวุฒาจารย์ ศาสนภารธุรกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี หรือ "พระราชวุฒาจารย์" อันเป็นสมณศักดิ์สุดท้ายของหลวงปู่
ตั้งแต่กลับจากจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงปู่มาพำนักประจำที่วัดบูรพารามแห่งเดียวติดต่อกันมา ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ จนกระทั่งกรมการศาสนาได้ยกขึ้นเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ในปี พ.ศ.๒๕๑๑
วัดบูรพารามได้จัดการพัฒนาต่อเนื่องกันมา และเป็นที่น่าปลาบปลื้มแก่ปวงชนชาวสุรินทร์เป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพาราม ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ก็ได้กลายเป็นที่รู้จักแก่สาธุชนผู้สนใจในธรรมทั่วไป และเป็นแบบอย่างแก่วัดทั่วไป ในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง ประชาชนทั่วไปได้เริ่มหลั่งไหลเข้ามาศึกษาธรรมะ เข้ามาคารวะกราบขอพรจากหลวงปู่ ตามกิตติศัพท์ที่ร่ำลือกันไป อย่างไม่ขาดสาย
แม้กระทั่งทุกวันนี้ แม้หลวงปู่ได้ละทิ้งสังขารไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ และไม่มีองค์หลวงปู่อยู่ที่วัดแล้ว ก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธาดำเนินตามแนวทางคำสอนของท่าน ได้ช่วยกันทำนุบำรุงรักษาไว้ซึ่งแนวทางนั้นโดยทุกประการ ผู้ที่เคารพศรัทธาในองค์หลวงปู่ ก็ยังแวะเวียนไปกราบรูปเหมือนของหลวงปู่ และมีความรู้สึกว่า หลวงปู่ยังคงเป็นที่พึ่งทางธรรมให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาอยู่ตลอดไป
๔๑. ปูชนียบุคคลที่หาได้ยาก
ท่านเจ้าคุณ พระราชวรคุณ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธินันทมุนี (หลวงพ่อสมศักดิ์ ปณฺฑิโต)ได้เล่าถึง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังนี้
ในฐานะที่อาตมาอยู่ใกล้หลวงปู่มาตั้งแต่เมื่อท่านมีอายุ ๖๒ ปี จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อใกล้ร้อยปี ก็ได้อยู่กับท่านในฐานะที่ปฏิบัติรับใช้ท่านตลอดมา สารทุกข์สุขดิบ ความยากความง่าย ปัญหาสารพันนั้น แม้จะไม่มีปัญญาที่อยู่ในระดับที่จะช่วยท่านแก้ไขได้ แต่หัวสมองของอาตมานั้นได้รับรู้รับทราบ รับสุขรับทุกข์ เข้าถึงอาตมามาโดยตลอดเช่นเดียวกัน ในแง่ของการบริหารงาน
ฉะนั้น ปฏิปทาของหลวงปู่ที่เป็นส่วนรวม และโดยเฉพาะที่เป็นส่วนตัวของท่านนั้น รู้สึกว่าท่านเป็นพระเถระ หรือ เป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากอย่างยิ่ง
คือ ท่านจะทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความสามารถ มาในทางการบริหารพระศาสนาทั้งหมด
การพูดถึงปัญหาภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาบ้านเมือง ปัญหาการเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาอะไรต่างๆ นั้น หลวงปู่จะกล่าวแต่น้อย รับรู้น้อย
ท่านจะพยายามมุ่งมั่นแต่ในทางพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์หลวงปู่เอง เวลาท่านมาอยู่วัด ที่เรียกว่า “วัตรบริหาร” คือไม่ใช่ตอนที่ถือธุดงควัตรตามป่าตามเขาก็จริง แต่กิจวัตรส่วนตัวของท่านนั้น กล่าวได้ว่าท่านไม่เคยบกพร่องเลย
เคยปฏิบัติมาอย่างไร ก็คงยึดปฏิปทาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตกบกพร่อง ด้านการบิณฑบาต ท่านก็ทำเป็นประจำ ฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ก็เห็นว่าท่านปฏิบัติมาได้ตลอด
เว้นไว้แต่มีกิจจำเป็น ทางราชการนิมนต์ไปในภาระใดภาระหนึ่ง เช่น ในรัฐพิธีบางอย่าง ท่านก็ฉันให้เขาบ้างตามพิธี เพื่อมิให้ขัดกับสิ่งแวดล้อมนั้นเอง
นี่คือปฏิปทาส่วนตัวของท่าน ซึ่งในแต่ละเรื่องแต่ละตอน ล้วนแต่ปฏิบัติถูกต้องงดงามและทำเสมอต้นเสมอปลาย
๔๒. บิณฑบาต ๒ ชั้น
ท่านเจ้าคุณ พระราชวรคุณ เล่าถึงปฏิปทาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ต่อไปว่า
สิ่งที่อาตมาภาพเห็นว่า ท่านไม่ค่อยเหมือนใครและไม่มีใครหาโอกาสทำเหมือนหลวงปู่ ก็คือว่า เมื่อท่านมีภาระมาก แล้วก็ชราภาพพอสมควรแล้วการเดินบิณฑบาตโดยทั่วไปก็อาจจะขัดข้อง แต่ท่านก็ไม่ทิ้งบาตร เหมือนกัน อยากจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบในเรื่องนี้
ที่ว่าหลวงปู่ไม่ทิ้งบาตรก็คือ เมื่อหลวงปู่ไม่ได้ออกไปบิณฑบาต ท่านก็เอาบาตรของท่านมาตั้งไว้ ให้ลูกศิษย์นำบาตรมาตั้งไว้ที่หน้ากุฏิ พระเณรสานุศิษย์ที่ออกบิณฑบาตมาจากทิศต่างๆ เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดแล้ว ทุกองค์จะตรงไปที่หน้ากุฏิหลวงปู่ แล้วเอาทัพพีที่มีนั้น ตักข้าวจากบาตรของตน ใส่บาตรหลวงปู่คนละ ๑-๒ ทัพพี มีอะไรก็ใส่บาตรถวายท่าน
จึงเหมือนกับว่า ท่านยังฉันข้าวที่ลงในบาตรตลอดมา ตราบจนสิ้นอายุขัยของท่าน
ในการทำอย่างนี้ พวกเราทั้งหลายเมื่อบิณฑบาตมา ก็มาใส่บาตรหลวงปู่บางองค์ก็อธิษฐาน บางองค์ก็แสดงความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่ง ที่จะใส่บาตรถวายหลวงปู่
อันนี้เมื่อคิดดูแล้ว สำหรับอาตมาก็มีความรู้สึกว่า เป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง
หมายความว่า ที่ญาติโยมใส่บาตรในที่ต่างๆ เราไปรับบาตรจากญาติโยมก็จะมีความรู้สึกว่า บิณฑบาตที่เรารับมานั้น เราบิณฑบาตมาถวายหลวงปู่ผู้เป็นปูชนียะ หรือผู้เป็นอุปัชฌายะของตนเอง
เมื่อใส่บาตรหลวงปู่แล้ว พวกเรารู้สึกว่า ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่แสวงหาภิกขามาได้โดยชอบแล้ว ก็เอามาถวายหลวงปู่
บิณฑบาตในบาตรหลวงปู่ อาตมาถือว่า “บิณฑบาต ๒ ชั้น” ใช้คำว่า “บิณฑบาต ๒ ชั้น” ก็หมายความว่า ญาติโยมยกอธิษฐานใส่บาตรพระเณรโดยทั่วไปแล้ว อันนี้ชั้นที่หนึ่ง แล้วพระเณรก็มาอธิษฐานถวายหลวงปู่ เพราะฉะนั้น ข้าวในบาตรของหลวงปู่จึงเป็นบิณฑบาต ๒ชั้น ถือว่าเป็นของที่บริสุทธิ์หมดจด และเป็นของสูง ใครจะไปประมาทการบิณฑบาตของท่านไม่ได้ ท่านก็ฉันอาหารในบาตรของท่านมาโดยตลอด
นี่เป็นปฏิปทาอีกข้อหนึ่งที่ผิดแผกจากองค์อื่น ไม่ทราบว่าหลวงปู่ท่านมองเห็นอย่างไร มีเจตนาอย่างไร คงจะเป็นการสงเคราะห์ลูกหลาน สานุศิษย์ ให้เขามีโอกาสรับใช้ปฏิบัติครูบาอาจารย์
๔๓. ให้โอกาสสานุศิษย์
ปฏิปทาของหลวงปู่ ในการเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านนั้น มีการเกี่ยวเนื่องกับพระเณรในวัด คือ เราจะมีการจัดวาระไปปฏิบัติหลวงปู่ เริ่มตั้งแต่ ๕ โมงเย็น หรือ ๔ โมงเย็นก็สรงน้ำ ซึ่งหลวงปู่จะสรงน้ำอุ่นตลอด
จะมีการจัดเวรพระไว้ชุดหนึ่ง นอกนั้นแล้วแต่องค์ใดจะมีศรัทธา อย่างน้อยมี ๓ องค์ขึ้นไป ที่ไปร่วมกันสรงน้ำหลวงปู่ทุกวัน
เมื่อผสมน้ำอุ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็อาราธนาท่าน ท่านนั่งเก้าอี้ใกล้ตุ่มน้ำอุ่นนั้น พระเณรก็ช่วยกันส่งผ้าอาบน้ำถวายท่าน เหมือนกับว่าช่วยนุ่งให้ท่านนั่นแหละ ผลัดเปลี่ยนผ้า เสร็จแล้วก็อาบ ถูข้างหน้าหนึ่งหรือสององค์ ข้างหลังหนึ่งหรือสององค์ ท่านก็ถูเองบนศีรษะ ราดน้ำ แล้วก็ห่มสบง ก็เหมือนกับช่วยท่านนุ่งนั่นแหละ ก็ช่วยเหลือช่วยส่งให้ท่าน ช่วยเช็ดตัวให้ท่าน เรียบร้อยแล้วก็ถือว่าหมดวาระในช่วงนั้น
ส่วนกลางคืน ก็แล้วแต่พระเณรที่มีศรัทธา ไปถวายการนวด ไปนั่งเฝ้ารับใช้ท่าน คอยรับธรรมะคำสอนจากท่าน แต่ละองค์ก็นิยมทำ เพราะว่าเวลาเข้าใกล้หลวงปู่แล้วจะรู้สึกว่าเยือกเย็น สบายอกสบายใจ แม้เรากลุ้มใจ ก็รู้สึกสบายใจได้ฟังข้อคิดธรรมะ คำเตือน
อันนี้คล้ายๆ กับว่า ตั้งแต่ค่ำไปจนถึง ๓ ทุ่ม พวกเราจะต้องมาอยู่กับหลวงปู่ ถ้าไม่มีแขก พวกเราก็อยู่กับท่าน แล้วแต่ท่านจะสอน แล้วแต่จะมีโอกาสอะไรที่จะรับใช้ท่าน นี่คือกิจวัตรประการหนึ่ง
รู้สึกว่าเท่าที่เห็นครูบาอาจารย์มา ฝ่ายกัมมัฏฐาน เราจะสนใจต่อการปฏิบัติครูบาอาจารย์มาก ถือว่าเป็นกัมมัฏฐานข้อหนึ่งของพระเณร ในการที่รับใช้ครูบาอาจารย์
บางองค์เขาก็นึกเข้ามาทางที่ตัวเองว่า "โอ! เราไม่ได้รับใช้คุณพ่อคุณแม่เมื่อเรามาบวชอยู่ในพระศาสนา การได้รับใช้ครูบาอาจารย์ รับใช้หลวงปู่ก็เหมือนกับได้รับใช้พ่อแม่ด้วย” ก็เกิดความภูมิใจ ดีใจ ก็นับเป็นบุญกุศลของเขา บุญกุศลก็คงจะต่อไปให้กับบิดามารดาของตัวเองบ้าง
อันนี้คือปฏิปทาอย่างหนึ่งของหลวงปู่ ที่เกี่ยวกับสานุศิษย์ที่พึงจะรับใช้ท่าน
๔๔. งานเผยแผ่ไปสู่ประชาชน
นอกจากงานด้านคันถธุระ จะได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองดังได้กล่าวมาแล้ว ด้านวิปัสสนาธุระก็มิได้ล้าหลัง นักปฏิบัติผู้ใคร่ในธรรมชาวสุรินทร์ ก็ได้หลวงปู่เป็นหลักสำคัญ ในการให้การอบรมสั่งสอน และแก้ไขชี้แนะแนวทางปฏิบัติ นับว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ของชาวสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง
ถ้าเทียบกับประชาชนในถิ่นอื่นหลายแห่ง จะเห็นว่าผู้ใส่ใจในธรรมปฏิบัติ ต้องเที่ยวเสาะหาครูบาอาจารย์กัน เป็นเวลาแรมเดือนแรมปี เป็นระยะทางไกลเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร ก็ยังได้พบบ้าง ไม่ได้พบบ้าง เนื่องจากครูบาอาจารย์ต่างๆ ท่านไม่ค่อยอยู่ประจำที่
แต่ชาวสุรินทร์นั้น มีหลวงปู่ดูลย์ ผู้สามารถชี้แนะได้ตลอดสายคอยอยู่เป็นประจำที่วัดแล้ว จึงทำให้การพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระ เจริญก้าวหน้าไปด้วยดี
จะเห็นว่าการสอนวิปัสสนาของหลวงปู่ ที่สำนักวัดบูรพารามนั้น ไม่มีการยกป้ายเปิดป้ายให้รู้ว่ามีการเรียนการสอนในด้านนี้แต่อย่างใด แต่ก็เป็นที่รู้จักกันดี ในหมู่ผู้เสาะแสวงหาธรรมปฏิบัติจากทั่วประเทศ
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยที่หลวงปู่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น มีชาวสุรินทร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จัก หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังจะเห็นจากเรื่องราวที่ว่า
"ชาวคณะจังหวัดสุรินทร์ผู้ใฝ่ในการบุญการกุศล ได้พากันเหมารถบัสเพื่อไปกราบนมัสการ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่ดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่ บ้าง ไปกราบหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่สกลนครบ้าง พระคุณเจ้าเหล่านั้นได้กล่าวเป็นเชิงชี้แนะแก่ชาวสุรินทร์เหล่านั้นว่า ที่จังหวัดสุรินทร์เอง ก็มีพระอริยเจ้าผู้มีคุณธรรมสูงอยู่ที่นั่นคือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ทำไมจึงไม่ไปกราบ หรือ ทำไมจึงไม่รู้กัน อุตสาห์ดั้นด้นตะเกียกตะกายไปถึงที่ไกลๆ โดยที่ไม่รู้ว่าที่จังหวัดของตน ก็มีพระดีพระดังชั้นสุดยอดอยู่เหมือนกัน"
ข้อความนี้คัดลอกจากบันทึกในหนังสือ “อกิญฺจโนบูชา” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
จากความทรงจำของท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณ ได้เล่าถึงภารกิจด้านเผยแผ่พระศาสนาของหลวงปู่ว่า ในระหว่างที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่นั้น งานหลักประเภทหนึ่งนั้นคือ งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์และขยายวัดวาไปตามสาขาต่างๆ
กล่าวคือ เมื่อฝ่ายกัมมัฏฐาน เผยแผ่ไปสู่ญาติโยมทางไหนก็ตาม กิจกรรมทางบ้านวัดวาก็จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าแต่ละจุด แต่ละแห่ง ญาติโยมแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ล้วนอยากได้ “วัดป่า” ล้วนอยากได้พระปฏิบัติทั้งนั้น
อันนี้ เท่าที่ได้ฟังได้เห็นมา นับว่าเป็นการลำบาก เป็นการเพิ่มภาระแก่หลวงปู่อย่างยิ่งคือไม่มีกำลังพอ ไม่สามารถจะหาพระเณรไปโปรดญาติโยมให้ได้หลายจุด และให้ได้หลายแห่ง ก็เป็นอันว่าขัดข้องพอสมควร
แต่เมื่อชาวบ้านเขาไม่ได้พระไป ก็หาโอกาสมาฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือมาทำบุญบริจาคทานที่หลวงปู่เป็นครั้งคราว เพื่อฟังข้อวัตรปฏิบัติหรือข้อแนะนำกัมมัฏฐาน
อาจกล่าวได้ว่า ญาติโยมผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ปฏิบัติสมาธิภาวนาในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นแล้ว มักจะมีข้อสังเกตว่า ในจังหวัดอื่นนั้นพระสงฆ์สามารถปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ดี แต่ทางจังหวัดสุรินทร์ แสดงให้เห็นว่า ญาติโยมจะมีโอกาสทำได้ดีเป็นจำนวนมาก
เพราะเท่าที่หลวงปู่เผยแผ่คุณธรรมมา การเข้าถึงสมาธิปัญญานั้น ทำให้ญาติโยมตื่นตัว ในการประพฤติปฏิบัติฝ่ายกัมมัฏฐาน เป็นอันมาก
ท่านพระอาจารย์สุวัจ สุวโจ ศิษย์อาวุโสองค์หนึ่งของหลวงปู่ ได้เคยพูดเปรียบเทียบในเรื่องนี้ว่า
ทางแถบอีสานเหนือ เช่น อุบล อุดร ขอนแก่นนั้น ในแง่การปฏิบัติรับใช้เลี้ยงดู ถวายอาหาร การบริโภค การบำรุงพระกัมมัฏฐาน ทำได้ดี แต่ในแง่ของการตั้งใจทำสมาธิภาวนานั้น สู้ทางจังหวัดสุรินทร์ไม่ได้
ส่วนทางสุรินทร์นั้น ในแง่การทะนุบำรุงจตุปัจจัยให้ถวายอุปถัมภ์แก่พระกัมมัฏฐานทางวัตถุนั้น สู้ทางอีสานเหนือไม่ได้ แต่ถ้าในแง่การตั้งใจด้านสมาธิภาวนารักษาศีล ๘ ดูตามจำนวนแล้ว ทางสุรินทร์นี้ไม่ใช่ธรรมดาเลย ทางสุรินทร์กับบุรีรัมย์แถวนี้นับว่าการปฏิบัติภาวนาอยู่ในเกณฑ์ตี
พระเถระผู้ใหญ่ท่านให้ข้อสังเกตดังนี้ และเท่าที่สังเกตมา ก็เห็นว่าเป็นไปดังนั้นจริง ทั้งนี้ คงเป็นผลจากที่หลวงปู่ ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ทางกัมมัฏฐาน พร้อมทั้งสนใจให้การศึกษาด้านพระปริยัติไปด้วยกระมัง จึงได้ผลออกมาในลักษณะตังกล่าว
๔๕. สงเคราะห์ศิษย์ในการบวช
สำหรับชีวิตประจำวันของหลวงปู่ ก็มีกล่าวถึงปฏิปทาในตอนอื่นมาพอสมควร ว่าท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร คือ ท่านอยู่อย่างง่ายๆ คำเตือนของท่านโดยเฉพาะท่านจะเตือนพระเณรด้วยคำเตือนง่ายๆ
อย่างเช่น พระบางองค์พอบวชมาแล้ว ก็ต้องการจะลาสึก อย่างนี้เป็นต้น หลวงปู่ก็มักจะแนะนำว่า
“เออ! อยู่ช่วยวัดวาศาสนาไป การจะสึกหาลาเพศไปนั้น ญาติโยมเขาก็อยู่ภายนอกเยอะแยะแล้ว เขาก็อยู่ได้ทำได้ เรามีโอกาสได้มาบวชปีสองปี ก็ตั้งใจศึกษาปฏิบัติ ช่วยวัดวา ช่วยพระศาสนาไป”
โดยมากแล้ว พระที่จะไปลาสึกกันนั้น ไม่มีใครไปขอลาครั้งเดียวแล้วก็สำเร็จ (ยกเว้นลางาน ลาราชการบวชชั่วคราว) จะถูกท่านแนะนำ จนกระทั่งท่านเห็นว่า คนนั้นถอยจริงๆ แล้ว ถอยศรัทธาแล้ว ถึงจะอยู่ต่อไปก็คงไม่ได้อะไร ท่านจึงจะอนุญาต
แต่ถ้าพอแก้ไข แนะนำชักชวนให้อยู่ประพฤติปฏิบัติต่อได้ ท่านก็มักจะแนะนำตักเตือนเสียก่อน ซึ่งมีหลายองค์จะได้ผล และอยู่บวชเรียนต่อๆ มาจนมีชื่อเสียงมาจนปัจจุบันนี้
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสงเคราะห์ในการให้บรรพชาอุปสมบท นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง และน่าเห็นใจท่านมาก
การสงเคราะห์ให้คนเข้าบวชนั้น บางคนไม่รู้หนังสือ ไม่ได้ ก.ไก่-ข.ไข่ มา เมื่อมาอยู่วัดแล้ว บางทีหลวงปู่ต้องลงทุนสอนด้วยตัวท่านเองกระทั่งเขาอ่านออกเขียนได้ แล้วสอบได้นักธรรมตรี โท เอก ไปจนถึงเป็นมหาเปรียญ ก็มีเยอะ
ในเรื่องการสงเคราะห์คนให้ได้บวชเรียนนั้น ท่านทั้งหลายคงยอมรับว่าในช่วงสมัยสงครามนั้น หลวงปู่หลวงพ่อในรุ่นนั้นถือเป็นรุ่นทุกข์ยากลำบากขาดแคลนมากในเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม
สำหรับท่านที่สูงอายุสักหน่อย จะเห็นว่าจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๐ และถึง ๒๕๐๐ นั้น เรื่องเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะในบ้านนอกบ้านนานั้น นับว่าแร้นแค้นอย่างที่สุด
ผู้ที่มาขอบวชกับหลวงปู่ เมื่อสนใจเลื่อมใสแล้ว ก็จะถูกพ่อแม่นำตัวมาถวาย “แล้วแต่หลวงปู่จะเมตตา แล้วแต่หลวงพ่อจะกรุณา สบง จีวรอะไรก็ไม่มีหรอก แล้วแต่หลวงพ่อจะเมตตากรุณาเถอะ”
แม้แต่สบงจีวรที่จะบวชก็ไม่มี หลวงปู่ก็บวชให้ โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ หลวงปู่บวชให้มากจริงๆ คือ ปีหนึ่งๆ ท่านจะบวชพระ-เณร ตั้งแต่ ๒๐๐ องค์ขึ้นไป
บุรีรัมย์และสุรินทร์ในสมัยนั้น ไม่มีพระอุปัชฌาย์ฝ่ายสงฆ์ธรรมยุต ก็มารวมกันบวชที่วัดนี้แห่งเดียว พระอุโบสถวัดบูรพารามนั้นจึงใช้ในการบวชอย่างคุ้มค่ามาก จนกล่าวได้ว่า ไม่มีวันไหนที่ไม่มีใครเดินทางมาบวช อันนี้ว่าโดยทั่วๆ ไป
ถ้าพูดถึงสิ่งที่หลวงปู่ให้การสงเคราะห์แล้ว ท่านสงเคราะห์ทุกอย่าง ตัวท่านเองก็จะใช้ของต่างๆ เพียงพอยังอัตภาพเท่านั้น โดยเฉพาะด้านการนุ่งห่ม เมื่อได้มา มีมา หรือบางครั้งต้องไปหาซื้อ หาจ่ายมา เพื่อสงเคราะห์ให้คนได้บวช
ลูกศิษย์อย่างพวกอาตมาก็เคยว่า “หลวงปู่ เมื่อเขาไม่มีอะไร แล้วเราไม่มีอะไร ก็น่าจะปล่อยตามเรื่องเขาบ้าง”
แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเป็นในลักษณะนี้หมด คือ ถ้ามีมาบวชสักสิบราย ก็จะมีคนพร้อมที่จะจัดหาเครื่องบวชประมาณ ๕-๖ ราย ส่วน ๒-๓-๔ รายนั้นจะมาตัวเปล่า ที่หวังมาพึ่งบารมีหลวงปู่
ท่านก็ให้การสงเคราะห์ตามมีตามเกิด แม้แต่สบงจีวรก็ไม่มี ครั้นบวชแล้วจะไปห่วงอะไรถึงเรื่องเสื่อ หมอน หรือเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ไม่ต้องพูดถึง ทางหลวงปู่ต้องสงเคราะห์ทั้งนั้น หลวงปู่ต้องต่อสู้มาอย่างนั้น
พอกราบเรียนท่านเรื่องนี้ ท่านเคยพูดให้ข้อคิดว่า “สงเคราะห์กันไปสิบได้หนึ่ง ร้อยได้สอง ก็ยังดี”
นั่นคือ ใครมาขอให้ท่านบวชให้ ท่านก็บวชให้การสงเคราะห์ เผื่อว่าบางคนจะมีบุญมีวาสนาในทางประพฤติปฏิบัติ ได้เหลืออยู่ช่วยวัดวาไปนานๆ ทำนองว่า บวชสัก ๑๐ คน ยังเหลืออยู่ ๑ หรือ บวช ๑๐๐ คน เหลืออยู่ ๒ คนก็ยังดี
ถ้าพูดถึงการสงเคราะห์ในการบวชแล้ว รู้สึกเห็นใจหลวงปู่มาก ท่านทำได้มากเหลือเกิน อย่าว่าแต่ผู้ไม่มีจตุปัจจัยถวายพระอุปัชฌาย์เลย แม้แต่สบงจีวรให้ครบชุดก็ยังไม่มี แต่หลวงปู่ก็ทำของท่านมาตลอดอายุขัยของท่าน จะมีการสงเคราะห์ประเภทนี้แหละ ท่านให้การสงเคราะห์ตามมีตามเกิด
สามารถกล่าวได้ว่า หลวงปู่ท่านอาศัยคุณธรรมอย่างเดียว ใครจะรู้ว่าหลวงปู่มีคุณธรรมแค่ไหน เพียงไร นั้นยาก แต่จะเห็นว่า หลวงปู่ท่านอยู่อย่างสันโดษ อยู่ในคุณธรรม ไม่คิดสร้างอุบาย หรือนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปเกิดความนับถือ หรือทำให้เกิดความอัศจรรย์แก่ใคร ท่านเคยอยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น แล้วก็ลำบาก
เพิ่งจะมาช่วงหลังๆ นี้ชาวเมืองหรือชาวกรุงเทพฯ เขามีความนิยมพระป่า และหลวงปู่ก็เป็นพระฝ่ายป่ามาก่อน จึงมีคนหลั่งไหลมากราบไหว้จำนวนมาก ฐานะความเป็นอยู่ของวัด ของหลวงปู่ จึงมากระเตื้อง ตอนที่ท่านอายุ ๙๐ ปีแล้ว อันนี้พูดตามสัจตามจริง ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ
ในส่วนของหลวงปู่ ท่านเคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นเอง อยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย การกระทำของท่านไม่มีการแสดง การโอ้อวด ไม่มีการพูดเลียบเคียง หรือมีการขวนขวายในเรื่องลาภสักการะ หลวงปู่จึงอยู่ตามสภาวะแล้วก็สงเคราะห์เฉพาะสิ่งที่หมดจด
เมื่อหลวงปู่อยู่แบบนี้ หมายถึงว่า สิ่งที่ท่านได้มา ก็บริสุทธิ์ สิ่งนั้นก็หมดจดสิ่งนั้นก็สะอาด กุศลก็เกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย
ปฏิปทาของท่านมักจะเป็นอยู่อย่างนี้
๔๖. อยู่อย่างบริสุทธิ์
เรื่องความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะด้านอาหารการบริโภคนั้น ยิ่งมองเห็นชัดเจนว่า ลำบากอย่างยิ่ง อยู่กันมาด้วยความยากลำบาก แต่ก็ได้ผลตรงที่สานุศิษย์ของหลวงปู่ มีความอดทน ที่ยังเหลืออยู่ในเพศสมณะนั้นมีมากมายทั้งในสุรินทร์ บุรีรัมย์ ในจังหวัดอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร กระทั่งในต่างประเทศก็ยังมีสานุศิษย์ที่แผ่ขยายออกไป
อันนี้คือปฏิปทาส่วนตัวของท่านที่ท่านดำรงตัวอยู่ได้ก็คือ ขันติธรรม
ขันติธรรมของหลวงปู่นับว่าใหญ่หลวงนัก สมกับที่ท่านสอนเสมอว่า “อย่าส่งจิตออกนอก” ข้อนี้นับว่าเหมาะสมอย่างมาก
ในด้านคำพูดของหลวงปู่ แม้จะปล่อยโอกาสให้พูดตามสบายบ้างก็เวลาท่านทำงานกับพระเณร แต่ก็พูดแต่เรื่องภายในธรรม ภายในพระวินัย ไม่มีการตลกโปกฮาในเรื่องภายนอกอะไร
ถ้าจะพูดให้คลายอารมณ์ ก็จะพูดแต่เรื่องในธรรมวินัย แบบกระเซ้าเล่นว่า พระองค์นั้นยะถาไม่ถูก พระองค์นี้รับสัพพีผิด อะไรทำนองนั้น หรือ นาคนั้นขานนาคแบบนั้นแบบนี้ คือ จะเป็นเรื่องขบขันในธรรมวินัย ในวัดในวาเท่านั้นเอง ไม่มีเรื่องภายนอกมาก ปฏิปทาของท่านจะอยู่อย่างนี้
มานึกถึงว่า ความผิดพลาด บกพร่อง ตลอดชีวิตของหลวงปู่ที่จะพึงหยิบยกมาว่า ตรงนั้นน่าจะเป็นอย่างนั้น ตรงนี้น่าจะเป็นอย่างนี้ รู้สึกว่าหาได้ยาก มองจุดอ่อนของการวางตัวของท่านได้ยาก มองไม่เห็นเลย
สำหรับเรื่องของการบริหาร อย่างเรื่องการบริหารภายนอก เกี่ยวกับทางราชการ ซึ่งถือเป็นเรื่องภายนอกนั้น ท่านอาจจะปฏิบัติไม่ถูกต้องกับระเบียบที่โลกภายนอกเขาถือปฏิบัติกันบ้าง เพราะท่านไม่คุ้นเคย
แต่ถ้าเป็นเรื่องภายใน เรื่องข้อวัตรปฏิบัติของท่าน เราไม่สามารถจะจับจุดอ่อน จุดบกพร่อง จุดพลั้งเผลอ ของหลวงปู่ได้เลยแม้แต่น้อย จนตลอดชีวิตท่าน ดังนี้ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของหลวงปู่
๔๗. แนวทางการสอนศิษย์
สำหรับศิษยานุศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณร และปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนานั้น หลวงปู่จะชี้แนะแนวทางดำเนินปฏิปทาไว้ ๒ แนวทาง ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นศาสนทายาทนั้น ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ
ดังนั้น หลวงปู่จึงแนะนำว่า ผู้ที่อายุยังน้อยและมีแวว มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน ก็ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน ในเวลาที่ว่างจากการศึกษาก็ให้ฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย เพราะจิตใจที่สงบ มีสมาธิ ย่อมอำนวยผลดีแก่การเล่าเรียน
เมื่อมีผู้สามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงๆ ได้ หลวงปู่ก็จะจัดส่งให้ไปเรียนต่อในสำนักต่างๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่นที่เจริญด้วยการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม
ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่จึงมีมากมายหลายรูป ที่ศึกษาพระปริยัติธรรมจบชั้นสูงๆ ถึงเปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ประโยคหรือจบระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา
สำหรับอีกแนวทางหนึ่ง นั้น สำหรับผู้ที่มีอายุมากแล้วก็ดี ผู้ที่รู้สึกว่ามันสมองไม่อำนวยต่อทางศึกษาก็ดี ผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี หลวงปู่ก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจ ให้พอคุ้มครองรักษาตัวเองให้สมควรแก่สมณสารูป แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง
ก็แลสำหรับผู้ที่เลือกแนวทางที่สองนั้น หลวงปู่ยังได้ชี้แนะไว้อีก ๒ วิธี
คือผู้ที่ใฝ่ในทางธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบฉบับของ พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ก็จะแนะนำ และส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาอบรมกับครูบาอาจารย์ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากศิษย์ไปอยู่มากที่สุด และมาในระยะหลังมีฝากไปที่ สำนักวัดป่าบ้านตาดของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน บ้าง
เป็นที่สังเกตว่า ไม่มีลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจในกิจธุดงค์คนใด ที่หลวงปู่จะแนะนำให้ไปเอง หรือ เที่ยวเสาะแสวงหาเอาเอง หรือ เดินทางไปสำนักนั้นๆ เอง
ในเรื่องนี้ท่านเจ้าคุณ พระราชวรคุณ ยืนยันว่า หลวงปู่เคยใช้ให้ท่านเจ้าคุณเองเป็นผู้นำพระไปฝากที่สำนักท่านพระอาจารย์ฝั้นหลายเที่ยวหลายชุดด้วยกัน ศิษย์ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจากสำนักท่านพระอาจารย์ฝั้นนั้น ก็ได้กลับมาบำเพ็ญประโยชน์แก่การพระศาสนา ด้านวิปัสสนาธุระ ที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์หลายท่านด้วยกัน จนกระทั่งมีไปเผยแพร่พระศาสนาในด้านนี้ถึงสหรัฐอเมริกาก็หลายรูป ในปัจจุบันนี้ ทั้งนั้นเป็นเพราะผลการสังเกตเห็นแววและส่งเสริมสนับสนุนของหลวงปู่นั่นเอง
ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น หลวงปู่ชี้แนะไว้สำหรับ ผู้ที่สนใจจะปฏิบัติทางด้านสมาธิวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐาน อาจเป็นด้วยไม่ชอบการนุ่งห่มแบบนั้น หรือมีสุขภาพไม่เหมาะแก่การฉันอาหารมื้อเดียว หรือเพราะเหตุผลเมื่อใดก็ตาม
หลวงปู่จะไม่แนะนำให้ไปที่ไหน แต่ให้อยู่กับที่ที่ตนยินดีชอบใจ ในจังหวัดสุรินทร์หรือบุรีรัมย์ อาจเป็นที่วัดบูรพาราม หรือวัดไหนก็ได้ที่รู้สึกว่าอยู่สบาย
หลวงปู่ถือว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบนี้แล เป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใครจะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติที่กายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่
ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น นอนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้นนั่นแล
ยิ่งกว่านั้น หลวงปู่อธิบายว่า
ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนาในท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมือง ที่มีแต่ความอึกทึกครึกโครม หรือแม้แต่กระทั่งในขณะที่รอบๆ ตัวมีแต่ความเอะอะวุ่นวาย ก็สามารถกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธิที่ผู้นั้นทำให้เกิดได้ จึงเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะ คือ ไม่อำนวยนั่นเอง เพราะว่า สถานที่ที่เปลี่ยววิเวกนั้นย่อมเป็นสัปปายะ อำนวยให้เกิดความสงบอยู่แล้ว จิตใจย่อมจะหยั่งลงสู่สมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา
หลวงปู่ยังเคยบอกด้วยว่า
การเดินจงกรม จนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น จะเกิดสมาธิแข็งแกร่งกว่าสมาธิ ที่สำเร็จจากการนั่ง หรือนอน หรือแม้แต่การเข้าป่ายิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้ จะสังเกตเห็นว่า ในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ จะมีนักปฏิบัติหลายท่านชอบไปนั่งทำสมาธิใกล้ๆ วงพิณพาทย์หรือใกล้ๆ ที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมต่างๆ ยิ่งดังเอะอะน่าเวียนหัวเท่าไร ก็ยิ่งชอบ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำสมาธินั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่เลือกสถานที่ปฏิบัติก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่มีจิตเบา วอกแวกง่าย หรือผู้ที่ต้องการ “เครื่องทุ่นแรง” จำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อม ที่อำนวยความสงบ พึงแสวงหาสถานที่วิเวก หรือออกธุดงค์กัมมัฏฐาน แสวงหาที่สงัดที่เปลี่ยว เช่นถ้ำ เขา ป่าดงหรือป่าช้าที่น่าสะพรึงกลัว จะได้เป็นเครื่องสงบจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสติได้โดยง่ายแท้ จะทำให้การบำเพ็ญสมาธิภาวนาสำเร็จได้สะดวกยิ่งขึ้น
๔๘. วิปัสสนูปกิเลส
ในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ในบางครั้งก็มีอุปสรรคขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเกิดการหลงผิดบ้างก็มี ซึ่ง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ และช่วยแก้ไขแก่ลูกศิษย์ลูกหาได้ทันท่วงที ดังตัวอย่างที่ยกมานี้
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เกิดปัญหาเกี่ยวกับ วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งหลวงปู่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า
เมื่อได้ทำสมาธิ จนสมาธิเกิดขึ้น และได้รับความสุขอันเกิดแต่ความสงบพอสมควรแล้ว จิตก็ค่อยๆ หยั่งลงสู่สมาธิส่วนลึก นักปฏิบัติบางคนจะพบอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งมี ๑๖ อย่าง มี โอภาส คือเห็นแสงสว่าง และ อธิโมกข์ คือความน้อมใจเชื่อ เป็นต้น
พลังแห่งโอภาสนั้นสามารถนำจิตไปสู่สภาวะต่างๆ ได้อย่างน่าพิศวงเช่น จิตอยากรู้อยากเห็นอะไร ก็ได้เห็น ได้รู้ ในสิ่งนั้น แม้แต่กระทั่งได้กราบ ได้สนทนากับพระพุทธเจ้าก็มี
เจ้าวิปัสสนูปกิเลส นี้มีอิทธิพลและอำนาจ จะทำให้เกิดความน้อมใจเชื่ออย่างรุนแรง โดยไม่รู้เท่าทัน ว่าเป็นการสำคัญผิด ซึ่งเป็นการสำคัญผิดอย่างสนิทสนมแนบเนียน และเกิดความภูมิใจในตัวเองอยู่เงียบๆ บางคนถึงกับสำคัญตนว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งด้วยซ้ำ บางรายสำคัญผิดอย่างมีจิตกำเริบยโสโอหังถึงขนาดที่เรียกกันว่า เป็นบ้าวิกลจริตก็มี
อย่างไรก็ตาม วิปัสสนูปกิเลสไม่ได้เป็นการวิกลจริต แม้บางครั้งจะมีอาการคล้ายคลึงคนบ้าก็ตาม แต่คงเป็นเพียงสติวิกล อันเนื่องจากการมีจิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก แล้วสติตามควบคุมไม่ทัน ไม่ได้สัดไม่ได้ส่วนกันเท่านั้น ถ้าสติตั้งไว้ได้สัดส่วนกัน จิตก็จะสงบเป็นสมาธิลึกลงไปอีก โดยยังคงมีสิ่งอันเป็นภายนอกเป็นอารมณ์อยู่นั่นเอง
เช่นเดียวกับการฝึกสมาธิของพวกฤๅษีชีีไพร ที่ใช้วิธี เพ่งกสิณ เพื่อให้เกิดสมาธิในขณะแห่งสมาธิเช่นนี้ เราเรียกอารมณ์นั้นว่า ปฏิภาคนิมิต และเมื่อเพิกอารมณ์นั้นออกโดยการย้อนกลับไปสู่ “ผู้เห็นนิมิต” นั้น นั่นคือย้อนสู่ต้นตอคือ จิต นั่นเอง จิตก็จะบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ อันเป็นสมาธิจิตขั้นสูงสุดได้ทันที
ในทางไปปฏิบัติที่มั่นคง และปลอดภัยนั้น หลวงปู่ดูลย์ ท่านแนะนำว่า
“การปฏิบัติแบบจิตเห็นจิต เป็นแนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้น และบรรลุเป้าหมายได้ฉับพลัน ก้าวล่วงภยันตรายได้สิ้นเชิง ทันทีที่กำหนดจิตใจได้ถูกต้อง แม้เพียงเริ่มต้น ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตนเอง เป็นลำดับๆ ไปโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์อีก"
ในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอจะเห็นตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส ๒ ตัวอย่าง คือ กรณีของ ท่าน หลวงตาพวง และกรณีของ ท่านพระอาจารย์เสร็จ จะขอยกมาเล่าเพื่อประดับความรู้ต่อไป (ส่วนรูปภาพข้างล่างนี้ ให้ดูเอาเองก็แล้วกัน)
๔๙ เรื่องของหลวงตาพวง
ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ หลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิก สำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึกตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน
พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรงเกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง)ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน
บังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ ล้วนแต่ยังไม่รู้ จึงตั้งใจจะต้องไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน
ดังนั้นหลวงตาพวง จึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่า มาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง
หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๔ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง
ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระราชวรคุณยังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่น
“หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์...”
ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ
สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่าตามธรรมดาท่านหลวงตาพวง มีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า
“หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”
ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีกว่า
“อ้าว! ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้วไม่เห็นกราบ”
เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้น ว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉยไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ
หลวงตาพวงสำทับว่า
“รู้ไหมว่า เดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”
หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่
ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า
“ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร”
เมื่อหลวงปู่เห็นว่า อาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า
“เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ไปโน่น ที่พระอุโบสถ”
ท่านเณร (เจ้าคุณพระราชวรคุณ) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ จัดที่จัดทางถวาย หลวงตาวางสัมภาระแล้ว ก็กลับออกจากโบสถ์ ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จัก ให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน
หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตานั่งสมาธิ ให้นั่งสงบ แล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ
หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า
“เออ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”
ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตรจีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้น ท่านเจ้าคุณ พระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น
ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่งนึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า
“เออ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู”
เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าคันกลดของท่าน แถมเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม
ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่า ที่นั่นเอง
อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของสติที่ได้สัดส่วนกัน ก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วย อานุภาพแห่งความโกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง
เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณ พระเทพสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมากราบขอขมาหลวงปู่ กราบเรียนว่า ท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น
หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐานเป็นเครื่องนำสติ มิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”
๕๐. ชี้แนะศิษย์ผู้หลงทาง
เมื่อหลวงตาพวงได้พักอยู่ปฏิบัติสมาธิภาวนากับหลวงปู่เป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ก็เดินทางกลับไปบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติศาสนกิจต่อไป ที่เขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
หลวงตาพวงเจริญอยู่ในพระศาสนาสืบต่อมาจนวาระสุดท้าย และถึงแก่มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ เมื่ออายุได้ ๘๘ ปี และจนบัดนี้สรีระของท่านก็ยังคงตั้งอยู่ที่ วัดปราสาทเขาพนมรุ้ง ยังมิได้รับการกระทำพิธีฌาปนกิจแต่ประการใด
หลวงปู่เล่าให้ฟังต่อมาภายหลังว่า มีหลายท่านที่ประสบเหตุทางธรรมปฏิบัติเช่นเดียวกันกับหลวงตาพวง สำหรับที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่เอง ก็ยังมีอีกองค์หนึ่งที่สำคัญตนผิดอย่างถึงขนาด ก็คือ ท่านพระอาจารย์เสร็จ ซึ่งบัดนี้มรณภาพไปแล้ว
ท่านพระอาจารย์เสร็จ เป็นผู้เริ่มก่อตั้ง วัดกระดึงทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ท่านเป็นพี่ชายของท่านเจ้าคุณ พระราชปัญญาวิสารัตท์ (หลวงปู่เหลือง ฉนฺทาคโม) เจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ ฝ่ายธรรมยุต
ในกรณีของพระอาจารย์เสร็จนี้ หลวงปู่เล่าว่า แกกำลังเตรียมตัวเดินทางเพื่อจะไปแสดงธรรมเทศนาโปรด สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
หลวงปู่ว่า พระอาจารย์เสร็จสำคัญตนผิด จนมีความทะเยอทะยานมากถึงขนาดนั้น ด้วยเข้าใจว่าคนอื่นๆ ไม่รู้ธรรมะธรรมโมอะไรเลย
หลวงปู่ได้ช่วยแก้ไข และชี้แนวทางให้อย่างทันต่อเหตุการณ์
สำหรับพระอาจารย์เสร็จนี้ หลวงปู่ว่าแก้ไขได้ง่ายกว่าหลวงตาพวง เพราะไม่ถึงขั้นต้องยั่วให้โกรธเสียก่อน
ใน ๒ กรณีที่ยกมา เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า หลวงปู่เป็นหลักที่สำคัญเพียงไรสำหรับ นักปฏิบัติแถวจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ เมื่อศิษยานุศิษย์หรือผู้ใดมีข้อสงสัยไม่เข้าใจ หรือประสบกับอุปสรรคสำคัญในทางปฏิบัติ และช่วยตนเองไม่ได้ไม่ว่าในลำดับของการปฏิบัติขั้นใด หลวงปู่ก็สามารถชี้แนะได้ตลอดสายทำให้ผู้เป็นศิษย์เข้าถึงผลการปฏิบัติได้ แม้ในลำดับที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
๕๑. โปรดนักเลงให้กลับใจ
ขอย้อนถึงเรื่องราวที่หลวงปู่เดินทางกลับจากอุบลฯ มาสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมในครั้งแรก ท่านมาในรูปแบบของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน และพำนักโปรดญาติโยมอยู่ที่ สำนักป่าบ้านหนองเสม็ด ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์
ในช่วงนั้นได้มีชายหัวนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง มีความโหดร้ายระดับเสือ เป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา
เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือ เกี่ยวกับพระธุดงค์มาพำนักที่บ้านเสม็ด เขามั่นใจว่า พระจะต้องเป็นผู้ที่มีวิชาด้านคาถาอาคม อันล้ำเลิศอย่างแน่นอน จึงมีความประสงค์จะได้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง ประเภทอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า
ดังนั้น จึงพาลูกสมุนตัวกลั่น ๔ คน มีอาวุธครบครัน แอบเข้าไปหาหลวงปู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม แถวหมู่บ้านป่าถือว่าดึกพอสมควรแล้ว ชาวบ้านที่มาฟังธรรมและบำเพ็ญสมาธิภาวนาพากันกลับหมดแล้ว
กลุ่มนักเลงแสดงตนให้ประจักษ์ กล่าวอ้อนวอนหลวงปู่ว่า พวกตนรักการดำเนินชีวิตท่ามกลางคมหอกคมดาบ และได้ก่อศัตรูไม่น้อย ที่มาครั้งนี้ก็เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธา มีเจตนาจะมาขอวิชาคาถาอาคมไว้ป้องกันตัวให้พ้นจากอันตราย
ขอพระคุณท่านได้โปรดมีจิตเมตตา เห็นแก่ความลำบากยากเข็ญของพวกกระผมที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค หลบศัตรูหมู่ร้ายหมายขวัญ ได้โปรดถ่ายทอดวิชาอาคมให้พวกกระผมเถิด
หลวงปู่กล่าวกับชายกลุ่มนั้นว่า
“ข้อนี้ไม่ยาก แต่ว่าผู้ที่จะมีวิชาอาคมของเราได้นั้น จะต้องมีการปรับพื้นฐานจิตใจให้แข็งแกร่งเสียก่อน มิฉะนั้นจะรองรับอาถรรพ์ไว้ไม่อยู่ วิชาก็จะย้อนเข้าตัว เกิดวิบัติภัยร้ายแรงได้”
ว่าดังนั้นแล้ว หลวงปู่ก็แสดงพื้นฐานของวิชาอาคมของท่านว่า
“คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐาน คือ พลังจิต จิตจะมีพลังได้ ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็แต่จากการนั่งภาวนาทำใจให้สงบ วิชาที่จะร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา”
ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็นมั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเย็นกายเย็นจิตเลื่อมใสนับถือ อีกอย่างก็มีความอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว จึงยินดีปฏิบัติตาม
หลวงปู่ได้แนะนำให้นั่งสมาธิภาวนา แล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ ชั่วเวลาประมาณ ๑๐-๒๐ นาที เท่านั้น จอมนักเลงก็รู้สึกสงบเย็น ยังปีติให้บังเกิดซาบซ่านขึ้นอย่างแรง เป็นปีติชนิดโลดโผน เกิดอาการสะดุ้งสุดตัว ขนลุกชูชันและร้องไห้
เห็นปรากฏชัดในสิ่งที่ตนเคยกระทำมา เห็นวัวควายกำลังถูกฆ่า เห็นคนที่มีอาการทุรนทุราย เนื่องจากถูกทำร้าย เห็นความชั่วช้าเลวทรามต่างๆ ของตนทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง
หลวงปู่ก็ปลอบโยน ให้การแนะนำว่า
“ให้ตั้งสมาธิภาวนาต่อไปอีก ทำต่อไป ในไม่ช้าก็จะพ้นจากภาวะนั้นอย่างแน่นอน”
นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิภาวนาอยู่กับหลวงปู่ไปจนตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้า อาุนุภาพแห่งศีลและสมาธิ ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาตลอดทั้งคืน ก็ยังปัญญาให้เกิดแก่นักเลงเหล่านั้น
จิตใจของพวกเขารู้สึกอิ่มเอิบด้วยธรรม เปี่ยมไปด้วยศรัทธา บังเกิดความเลื่อมใส จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคมขลัง ตลอดจนกลับใจเลิกพฤติกรรมอันทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตน และแก่ผู้อื่น จนหมดสิ้น ปฏิญาณตนเป็นคำตายกับหลวงปู่ว่า จะไม่ทำกรรมชั่วทุจริตอีกแล้ว
เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเห็นว่าในขณะที่พวกเขาทั้ง ๕ อยู่ต่อหน้าหลวงปู่ พวกเขามิได้กระทำกรรมชั่วอันใดลงไป ส่วนกรรมชั่วที่เขาเคยกระทำมาแล้ว ก็หยุดไว้ชั่วขณะ แฝงซ่อนเร้นหลบอยู่ในขันธสันดานของเขา
ในตอนนั้น พวกเขามีเพียงความรู้สึกโลภ ด้วยการอยากได้คาถาอาคมจากหลวงปู่ แต่ความโลภช่วงนั้น ได้สร้างความศรัทธาให้เกิด ทำให้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน
ในขณะจิตที่ตั้งใจ ความชั่วทั้งหลายก็หยุดพักไว้ ศีลก็มีความสมบูรณ์พอที่จะเป็นบาทฐานของสมาธิภาวนาได้ เมื่อรักษาได้อย่างนั้นไม่ขาดสาย จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่า มีสมาธิจิตที่ไม่กำเริบแปรปรวน เรียกว่าจิตมีศีล และอาการตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่ามีสมาธิ ย่อมมีความคล่องแคล่วแก่การงาน ควรแก่การพิจารณาปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกว่าสติปัญญา
ความรู้สึกและอารมณ์ดังกล่าว ตรงตามคำสอนของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่ว่า
“ศีลอันใด สมาธิอันใด ปัญญาอันนั้น”
๕๒. พูดถึงการเผชิญสัตว์ร้าย
ผู้เขียน (พระราชวรคุณ) เคยได้ยินได้ฟังประวัติของท่านพระอาจารย์ต่างๆ ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ประวัติของท่านที่นำมาเล่ามาเขียนถึง ในระยะหลังๆ ยิ่งนานมาก็ยิ่งวิจิตรพิสดารขึ้นทุกที ยิ่งมีสีสันฉูดฉาดขึ้นทุกที ทั้งๆ ที่ประวัติที่ปรากฏในยุคแรกๆ นั้นเต็มไปด้วยความสะอาดหมดจด อิ่มด้วยรสพระธรรม งดงามไปด้วยปฏิปทาของพระมหาเถระเจ้า ที่น่ายึดถือเป็นแบบแผน สำหรับอนุชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติตามได้โดยง่าย
แต่มาในระยะหลัง เรื่องราวของพระมหาเถระเหล่านั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก มองเห็นยาก พิสดารและเหลือวิสัย
ครั้นเมื่อได้พิจารณาถึงพุทธประวัติ อันเป็นเรื่องราวของพระบรมศาสดาเองเล่า ก็เกิดความเข้าอกเข้าใจ จะเห็นว่าพุทธประวัติที่ปรากฏในพระไตรปิฎกชั้นบาลีนั้น มีแต่เรื่องเรียบง่าย มีแต่เรื่องประสูติ ตรัสรู้ แสดงพระธรรมโปรดพุทธสาวกต่างๆ การแยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา จนกระทั่งถึงพุทธปรินิพพาน
แต่พุทธประวัติที่ปรากฏในชั้นพระอรรถกถาจารย์ พระฎีกาจารย์ ในตอนหลัง จึงเริ่มมีสีสันวรรณะฉูดฉาดบาดนัยน์ตามากขึ้นทุกที จนกระทั่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส จำเป็นต้องกลั่นกรองออกมา เพื่อประโยชน์แก่ทางศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาในภายหลัง เมื่อผู้เขียนพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็เกิดความเบาอกโล่งใจ เพราะพ้นกังขาเสียได้ จึงมาคิดว่า ในฐานะที่เป็นผู้เรียบเรียงประวัติของ หลวงปู่ดูลย์ จากการได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดท่านมาถึง ๓๕ ปี มีเรื่องราวอันใดที่เคยได้ยินได้ฟัง ก็จะนำมาบรรยายไว้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจตัวเอง เพื่อว่าประวัติพิสดารของท่านเกิดงอกงามขึ้น ก็จะได้ชี้แจงถูกว่า เรื่องทั้งหมดมีอยู่เท่านั้นตามที่ข้าพเจ้าได้รู้ได้เห็น
ธรรมดาการเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีการเผชิญหน้ากับสัตว์ป่านานาชนิด ดังนั้นการที่หลวงปู่ดูลย์เคยประจันหน้ากับสัตว์ป่าที่ดุร้าย จึงมิใช่เรื่องประหลาดเหลือวิสัย
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลวงปู่ ดูออกจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่โลดโผนตื่นเต้น หรือน่าประทับใจอะไรมาก แต่ในเมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของท่านและท่านเป็นผู้เล่าเอง หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นคนเล่า และหลวงปู่ก็รับรองว่าเป็นความจริง ก็สมควรที่จะต้องบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาต่อไป
เมื่อมีใครๆ มาถามหลวงปู่ว่า “ตอนที่หลวงปู่เดินธุดงค์กัมมัฏฐาน หรือตอนอยู่ในป่าลึก เคยพบ เสือ หมู งูพิษ หรือสัตว์อะไรอื่นๆ บ้าง ?”
หลวงปู่จะตอบว่า “เคย”
ถามต่อไปอีกว่า “แล้วหลวงปู่ทำยังไง มันไม่ทำอันตรายหรือ ?”
ท่านตอบว่า “ตามธรรมดา พวกสัตว์เดรัจฉานนั้น ย่อมมีความกลัวมนุษย์ มันจะตกใจแล้วรีบหลบหนีไป ก็ได้พบเห็นมนุษย์”
ถามอีกว่า “แล้วช้างล่ะ หลวงปู่เคยเห็นช้างไหม ?”
ตอบว่า “เคยเห็น”
ถามอีกว่า “แล้วหลวงปู่ทำยังไง ?”
ตอบว่า “เมื่อเห็นทีท่าว่ามันจะมาทำอันตรายเรา ก็พยายามหลีกหนี ถ้าจำเป็น ก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ๆ สัตว์เหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไปตามทางของมัน แต่ถ้าเราไม่เห็นมัน แล้วช้างนั้นกำลังตกมัน หรือสัตว์อื่นที่เป็นบ้า มันก็จะเอาความบ้ามาทำอันตรายเราได้ ถ้าสัตว์นั้นเป็นปกติธรรมดาแล้ว มันย่อมกลัวเราเช่นกัน ย่อมจะไปตามเรื่องของมัน จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย”
เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ หลวงปู่มักจะพูดแบบนี้ทุกครั้ง ไม่เคยเลยที่หลวงปู่จะพูดเป็นทำนองว่า เสือมันกำลังย่องเข้ามาหาอาตมา อาตมาก็กำหนดจิตแผ่เมตตาให้มัน พร้อมกับพิจารณาว่า “มีหวังตายแน่” แล้วสัตว์นั้นๆ ก็ไม่สามารถมาทำอันตรายอาตมาได้เลย อย่างนั้นอย่างนี้...
คำพูดในทำนองแสดงฤทธิ์อำนาจ หรือเป็นเรื่องอัศจรรย์นั้น ไม่เคยได้ยินท่านพูดเลยแม้แต่ครั้งเดียว
๕๓ เรื่องเสือกลัวหมา
หลวงตาซอม เคยเล่าเหตุการณ์ เมื่อครั้งติดตามหลวงปู่ออกธุดงค์ ไปแถบประเทศกัมพูชาให้ฟังอยู่เรื่องหนึ่ง
หลวงตาซอมท่านนี้ พำนักอยู่ประจำที่วัดสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์
หลังจากที่หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปทางเขาพระวิหาร และไปทางกัมพูชาเมื่อครั้งมีสามเณรโชติ (พระเทพสุทธาจารย์) และสามเณรทอนติดตามไป แล้วหลวงปู่ถูกควายป่าไล่ขวิด แต่ไม่ได้รับอันตรายในครั้งนั้นแล้ว หลวงปู่ก็กลับมาพำนักที่ วัดป่าหนองเสม็ด ตามเดิม
พอออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ก็ออกท่องธุดงค์ ไปทางกัมพูชาอีกครั้ง ครั้งนี้ เด็กชายซอม เป็นผู้ติดตาม เด็กชายซอมมีกิตติศัพท์ว่า มีความดื้อดึงผิดปกติกว่าเด็กทั่วไป
ขณะที่หลวงปู่และเด็กชายซอม เดินทางผ่านป่าโปร่งแห่งหนึ่ง ก็ต้องชะงักฝีเท้าลง เพราะปรากฏภาพที่น่าตื่นตระหนกสะท้านขวัญขึ้น ที่ต้นไม้ใหญ่เบื้องหน้า
บนต้นไม้นั้น มีเสือตัวหนึ่งหมอบนิ่งอยู่บนกิ่งไม้ ต่ำลงมาที่คาคบไม้ไม่ห่างจากกันมากนัก มีหมาป่าตัวหนึ่งอยู่สงบนิ่ง นัยน์ตาจ้องเขม็งไปที่เสือ สัตว์ทั้งสองตัวต่างจ้องคุมเชิงกันอยู่
ทั้งอาจารย์และศิษย์หลบอยู่ใกล้ๆ ชนิดไม่ไหวติง สักครู่หนึ่งหลวงปู่n็ปลอบโยนเด็กชายซอมให้คลายจากความตื่นตกใจกลัว
เพราะเมื่อหลวงปู่สังเกตพิจารณาดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็นึกสงสัยว่าเหตุใดสัตว์ร้ายสองตัวนี้จึงมาจ้องคุมเชิงกันอยู่ด้วยอาการนิ่งเงียบไม่ไหวติงเลย
แทนที่เจ้าสุนัขป่าจะวิ่งหนี และเจ้าเสือจะไล่ตะครุบมาเป็นภักษาหารก็เปล่า เมื่อสังเกตดูดีแล้ว ท่านจึงพาเด็กชายซอมค่อยๆ แอบไปดูใกล้ๆ ท่านชี้ให้เด็กชายดูว่า เจ้าเสือที่หมอบนิ่งบนกิ่งไม้นั้น แสดงท่าทางตระหนกตกใจอย่างมาก ขนชูชัน และหางของมันหลุบซุกอยู่ที่ก้น แสดงอาการกลัวชนิดขวัญหนีดีฝ่อให้เห็น ราวกับว่าคงไม่คิดจะสู้กับหมาป่าตัวนั้นอีกแล้ว
ส่วนเจ้าหมาป่าที่อยู่คาคบข้างล่างนั้นมีอาการสงบนิ่ง อยู่ในท่ากระโจน ตาจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างไม่กระพริบ ส่วนคอของมันขัดอยู่กับง่ามกิ่งไม้ที่อยู่สูงถัดขึ้นไป เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่เห็นว่ามันน่าจะตายสนิท
หลวงปู่พิจารณาดูพื้นดินและบริเวณรอบๆ ท่านก็สันนิษฐานได้ว่า เมื่อคืนนี้ขณะที่เจ้าเสือออกท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามลำพัง ก็ประจันหน้าเข้ากับฝูงสุนัขป่าทันที ฝูงสุนัขป่าที่ดุร้ายก็วิ่งไล่ล้อมขย้ำกัดอย่างชุลมุนวุ่นวาย เจ้าเสือก็คงสู้สุดฤทธิ์ แต่ด้วยสุนัขป่ามีหลายตัว เสือจึงสู้ไม่ได้ต้องหนีเอาตัวรอดชนิดขวัญหนีดีฝ่อ
เสือคงจะสู้พลางหนีพลาง พอมาถึงต้นไม้นี้พอดี เสือก็กระโจนขึ้นไปหอบลิ้นห้อยอยู่บนนั้น ส่วนฝูงสุนัขป่าคงห้อมล้อมกันอยู่ใต้ต้นไม้ ชนิดไม่ยอมลดละ ต่างเห่ากรรโชกใส่ ทำให้เสือตระหนกตกใจมากยิ่งขึ้น ต่างตัวก็พยายามกระโจนขึ้นงับ
เจ้าตัวที่ตายอยู่บนคาคบไม้นั้น อาจจะเป็นจ่าฝูงก็ได้ ดูท่าจะกระโจนได้สูงกว่าเพื่อน แต่เคราะห์ร้าย ที่มันกระโจนพรวดเข้าไปในง่ามกิ่งไม้พอดี ในจังหวะที่มันร่วงลงมา ส่วนศีรษะจึงถูกง่ามกิ่งขัดเอาไว้ กระชากกระดูกก้านคอให้หลุดจากกัน ถึงกับตายคาที่ โดยที่ตาทั้งคู่ที่ฉายแววดุร้ายกระหายเลือด ยังจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างชนิดมุ่งร้ายหมายขวัญ
ทำให้เสือที่เข็ดเขี้ยวมาตั้งแต่เมื่อคืน ไม่กล้าขยับเขยื้อนหลบหนีไปจากต้นไม้นั้นเพราะเกิดอาการขวัญกระเจิง
เด็กชายซอมฟังคำสันนิษฐานจากหลวงปู่ ก็เข้าใจตามนั้น และหัวเราะออกมา เมื่อเห็นท่าทางอันขนชันของเสือ
หลวงปู่ให้เด็กชายซอมหากิ่งไม้มาแหย่ ดันให้หมาป่าหลุดจากง่ามกิ่งไม้ ตกลงมายังพื้น แล้วช่วยกันตะเพิดไล่เจ้าเสือให้หลบหนีไป
เมื่อเสือเห็นเจ้าหมาป่าหล่นไปกองอยู่ที่พื้น ไม่มาจ้องถมึงทึงจะกินเลือดกินเนื้ออยู่อีก มันก็รีบกระโจนพรวดหลบลงไปอีกด้านหนึ่ง แล้วเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว
๕๔. ผู้พิชิตงูจงอาง
บรรดาสัตว์ป่าที่ดุร้ายทั้งปวง ว่ากันว่า เสือนับเป็นเจ้าป่า เพราะแข็งแรง ว่องไว มีเขี้ยวเล็บแหลมคมและพลังมหาศาล ยากที่สัตว์อื่นจะด้านทานไหว เว้นแต่ว่าสัตว์อื่นจะมากันเป็นฝูง อย่างพวกสุนัขป่าดังกล่าวแล้ว
สำหรับ ช้าง ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่โตที่สุด มีและกำลังมากที่สุด แต่ทั้งเสือและช้างจะหลบหนีทันที เมื่อเจอ งูจงอาง เพราะงูจงอางนั้นมีพิษร้ายแรงมาก สัตว์ใหญ่ๆ ขนาดช้าง ถูกงูจงอางฉกทีเดียวเท่านั้น ชั่วเวลาอึดใจเดียว ก็ล้มลงขาดใจตายทันที
แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมมีของข่มกันอยู่โดยธรรมชาติ เราอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ไก่กลัวหมู หมูกลัวตะขาบ และตะขาบกลัวไก่”ดังนี้เป็นต้น
ถ้าเช่นนั้นใครล่ะ จะสามารถพิชิตงูจงอางได้ ?
หลวงปู่ และหลวงตาซอมได้เคยเผชิญกับงูจงอางมาแล้ว และสามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้
ในระหว่างที่หลวงปู่กับเด็กชายซอมท่องธุดงค์กัมมัฏฐานอยู่ในป่า แถบชายแดนประเทศกัมพูชา ในช่วงนั้นเอง ป่าแถบนั้นเป็นป่าดงดิบรกชัฏ หาบ้านผู้คนอาศัยอยู่ได้ยาก ชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด
สัตว์ป่าที่เคยชุกชุมตามชายแดนไทย ทนต่อการตามล่าตามล้างเอาชีวิตของคนไทยไม่ไหว ก็หลบหนีมารวมกันในแดนกัมพูชา จึงมีสัตว์อยู่อย่างชุกชุม
หลวงปู่และเด็กชายซอมรู้สึกเมื่อยล้า ด้วยเดินทางมาไกล จึงแวะพักผ่อนที่ก้อนหินใหญ่ปลายเนินแห่งหนึ่ง
ขณะนั้น แลเห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยแตกตื่นกลัวภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หลวงปู่จึงพาเด็กชายซอมไปหลบในที่ที่เหมาะ บอกว่า คงจะต้องมีสัตว์ร้ายอะไรสักอย่างผ่านมาแน่ๆ พวกสัตว์พวกนี้จึงดูตื่นตกใจเช่นนี้
สักครู่หนึ่ง ปรากฏร่างดำมะเมื่อม ละเลื่อมมันของงูจงอางขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเลื้อยปราดๆ มาอย่างรวดเร็ว ผ่านพ้นหลวงปู่ไปในพริบตา
หลวงปู่บอกว่า งูจงอางตัวนี้ไม่ได้ไล่ทำร้ายสัตว์อื่นอย่างแน่นอน เพราะไม่เห็นมันไล่สัตว์อะไร
ตามธรรมชาติมันจะเลื้อยอย่างแช่มช้า ตามวิสัยของงูที่มีพิษที่หยิ่งทระนงในความร้ายกาจแห่งพิษของมัน แต่เมื่อมันเลื้อยเร็วอย่างนี้ แสดงว่ามันจะต้องหนีอะไรมาอย่างแน่นอน
หลวงปู่บอกให้เด็กชายซอมคอยดูให้ดี ว่ามันเป็นตัวอะไรกันแน่ จึงสามารถทำให้งูจงอางกลัวได้
ไม่นานนัก ก็ปรากฏร่างผู้พิชิตงูจงอาง พอเห็นเข้าเท่านั้น เด็กชายซอมถึงกับหัวเราะขบขัน เมื่อเห็นร่างของผู้พิชิตนั้นมีสีแดง มีเกราะหุ้มตัวเป็นปล้องๆ เรียงซ้อนกันไปเป็นแถว ยาวประมาณวากว่าๆ มีเท้าสองแถวนับเป็นร้อยๆ ค่อยโผล่งุ่มง่ามออกมา ส่วนหัวของมันก้มส่ายไปตามพื้นดิน นัยน์ตาสองข้างแดงก่ำดังทับทิมสองเม็ดงาม
มันคือ ตะขาบยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา และมันคือผู้มีอำนาจ สามารถสยบงูจงอางได้
งูจงอางที่มีพิษร้ายกาจ เป็นที่หวาดหวั่นของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ทั้งหลายจะต้องมาพ่ายแพ้แก่เจ้าตะขาบยักษ์นี่เอง
สักครู่หนึ่ง เมื่อเจ้าตะขาบยักษ์จับรหัสร่องรอยของงูจงอางได้ มันก็ค่อยๆ เคลื่อนขบวนอันยาวของมันงุ่มง่ามๆ ต่อไป
จากนั้นหลวงปู่ก็สอนเด็กชายซอมผู้เพิ่งหายจากอาการตระหนกตกใจว่า ทุกอย่างในโลกย่อมมีของแก้ของข่มกันอยู่ ยิ่งใหญ่เยี่ยงพญางู ก็ยังสงบได้ด้วยพญาตะขาบ
ดังนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เป็นมีอำนาจในโลก ก็ไม่พึงมัวเมาผยองหยิ่งว่าหาผู้เสมอเหมือนมิได้
ส่วนผู้ที่ประสบภัยพิบัติ หรือตกอยู่ในสภาวะอับจน ก็ไม่ควรหมดอาลัยตายหยาก ควรทำจิตใจให้สงบระงับตั้งมั่นอยู่ ก็จะค่อยๆ หาทางออกให้แก่ตนได้ เพราะปัญหาทุกอย่างที่ไม่มีทางออกทางแก้ ย่อมไม่มีในโลก
ดูเอาเถอะว่า แม้แต่ปัญหาเรื่องความทุกข์ อันเกิดจากความเกิด แก่เจ็บตาย พระพุทธองค์ก็ยังหาคำตอบไว้ให้ได้ สำหรับปัญหาอื่นๆ อันเล็กน้อยจะไม่มีคำตอบได้อย่างไร
๕๕ จิตเสมอกัน
ต่อเนื่องกับเรื่อง ผู้พิชิตงูจงอาง หลวงปู่ก็ให้การอบรมสั่งสอนเด็กชายซอม ต่อไปว่า
“สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมีสภาวะแห่งจิตเสมอกัน ย่อมไม่กระทำอันตรายแก่กันและกัน และอาจสื่อสารสนทนากันได้ สามารถเข้าอกเข้าใจกันได้”
ยกตัวอย่างเช่น สัตว์ที่ตกอยู่ในสภาวะแห่งความกลัวต่อสิ่งเดียวกัน ก็สามารถวิ่งหนีภัยไปด้วยกัน หรือไปชุมนุมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน เมื่อเผชิญกับน้ำป่าหรือไฟป่าเป็นต้น
บางครั้งเราจะเห็นเสือเดินผ่านฝูงสัตว์ต่างๆ ไปอย่างปกติธรรมดา และสัตว์เหล่านั้น เมื่อเหลือบเห็นเสือ ก็มิได้แตกตื่นหนี เพราะมันรู้ว่า เสือได้อาหารอิ่มท้องสบายใจแล้ว
สัตว์เดรัจฉานเหล่านี้จะมีจิตกำเริบ เป็นอันตรายต่อกันและกัน ก็ต่อเมื่อมีความหิวโหย และปรารถนาความอยู่รอดแก่ตน แย่งชิงถิ่นที่อยู่ และเกิดคลุ้มคลั่งในสมัยฤดูกาลสืบพันธุ์เท่านั้น
มนุษย์ต่างหากที่มีความดุร้าย เป็นอันตรายต่อกันและกันได้มากกว่า
การอยู่ในป่า จึงนับว่าสามารถหลบหลีกอันตราย ซึ่งเป็นไปอย่างเปิดเผย ได้ง่ายกว่าการอยู่ในบ้านในเมือง เพราะในสังคมมนุษย์นั้น นอกจากจะมีการมุ่งร้ายหมายขวัญกันอย่างเปิดเผยแล้ว การประทุษร้ายกันอย่างลับๆ ก็ยังเป็นไปอยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการสารพัดวิธี
อนึ่งหลวงปู่เคยสั่งสอนพระเณรว่า เมื่ออยู่ในป่าและประจันหน้ากับงูจงอาง งูตกใจแล่นไล่จะทำอันตรายแก่เรา อย่าได้วิ่งหนีตรงๆ ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ให้วิ่งหลบหักซ้ายบ้างขวาบ้าง งูจะเข้าถึงตัวได้ช้า หรือไม่ก็จะเลิกความมุ่งร้ายไปในที่สุด
เมื่อมันยังไล่ตามอยู่ ให้แก้โดยเอาสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้าขาวม้าหรืออะไรก็ตาม โยนทิ้งไว้ข้างหลัง มันพุ่งเข้าฉกพัวพันอยู่กับของสิ่งนั้น เลิกล้มการไล่ติดตามเราอย่างสิ้นเชิง ก็จะทำให้รอดพ้นอันตรายไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น